ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์

 
สารธรรม
วันที่  24 ก.ย. 2565
หมายเลข  44167
อ่าน  220

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค รโหคตวรรคที่ ๒ รโหคตสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสอย่างนี้ว่า

ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ

ดูกร ภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้

ดูกร ภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้

ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั้นเองไม่เที่ยง

ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา

บุคคลที่ช่างสงสัยก็ต้องมีทุกสมัย คือ ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า การเสวยอารมณ์ที่ว่าเป็นทุกข์หมายถึงอะไร ในเมื่อกล่าวว่าเวทนามี ๓ แต่ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น จึงเป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 112

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 113


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ