การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดก็มีแม้แต่ในครั้งพุทธกาล

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44194
อ่าน  174

การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดก็มีแม้แต่ในครั้งพุทธกาล ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อริฏฐภิกษุผู้เป็นเหล่ากอของคนฆ่าแร้งมีทิฏฐิอันลามกว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง ภิกษุทั้งหลายเมื่อซักไซร้ไล่เลียงสอบสวน ไม่สามารถปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ

นี่ก็เป็นข้อความเบื้องต้นโดยย่อในอลคัททูปมสูตร ซึ่งท่านผู้อ่าน ท่านผู้ศึกษาธรรม บางครั้งก็เกิดความสงสัยข้องใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางท่านพอมีข้อความในพระสูตรบางตอนกล่าวว่า ภิกษุรูปนั้นผู้เป็นเหล่ากอของคนฆ่าแร้ง หรือภิกษุรูปโน้นผู้เป็นเหล่ากอของชาวประมง ท่านก็บอกว่า ทำไมต้องกล่าวพยัญชนะอย่างนี้ในพระสูตรด้วย เหมือนกับการดูหมิ่นหรือดูถูกบุคคลนั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เป็นเพราะชื่อมีซ้ำกันได้ ถ้าไม่กล่าว หรือไม่แสดงความชัดเจนพอที่จะให้ทราบว่า เป็นบุคคลไหน ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นบุคคลอื่น หรือเข้าใจผิดได้

ที่ยกพระสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า ผู้ใดที่มีความเห็นผิด เข้าใจผิด แล้วกล่าวถ้อยคำที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมวินัย เช่น อริฏฐภิกษุมีทิฏฐิอันลามกว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 115


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ