ทรงแสดงเวทนา ๑๐๘ ประการ
เพื่อสรุปเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อัฏฐสตปริยายสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเวทนา ๑๐๘ ประการ มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย ๑ เวทนาทางใจ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒
ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓
ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน เวทนา ๕ คือ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสิน-ทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเบกขินทรีย์ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕
ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน เวทนา ๖ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑ โสตสัมผัสสชา-เวทนา ๑ ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑ กายสัมผัสสชาเวทนา ๑ มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๖
ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๘ คือ เวทนาที่สหรคตด้วยโสมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๘
ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน เวทนา ๓๖ คือ เคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมโสมนัส ๖ เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา ๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓๖
เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ ที่เป็นอนาคต ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๐๘
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยาย อันมีปริยาย ๑๐๘ แม้นี้แล
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...