ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44206
อ่าน  525

สำหรับวันนี้จะเป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนา ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่

จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือว่าจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และ ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่

จบจิตตานุปัสสนา

ใครจะรู้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติ ลักษณะของจิตที่ได้ทรงแสดงไว้ในจิตตานุปัสสนา ถ้าไม่ใช่ผู้เจริญสติแล้วจะรู้อย่างนี้ไหม ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้ได้ แต่ทำไมทรงแสดง จิตตานุปัสสนา เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ แต่หลงเข้าใจผิดยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นสภาพที่ปัญญาจะต้องเจริญแล้วก็รู้ชัด จึงจะละได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไม่รู้ไป เรื่องไม่รู้เป็นเรื่องที่จะไม่ถึงอริยสัจธรรม และเมื่อย่อสภาพธรรมที่มีจริง ก็จะปรากฏเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งกับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่มีปรากฏให้รู้ได้ ก็มีลักษณะที่ปรากฏแตกต่างกัน อย่างเวทนาเป็นสภาพความรู้สึกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น เวทนาซึ่งเป็นสภาพความรู้สึกปรากฏให้รู้ได้ ความสุขมี โสมนัสมี ความทุกข์มี โทมนัสมี อุเบกขามี เป็นสภาพที่ปรากฏให้สติระลึกได้ ส่วนของเวทนานุปัสสนา ก็เป็นเวทนานุปัสสนา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 117


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ