สภาพของจิตนั้นมีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44207
อ่าน  196

แต่สภาพของจิตก็เป็นสภาพที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกัน สภาพของจิตนั้นเป็นสภาพที่มีความรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นไปโดยความถึงก่อนเป็นรสะ

รู้ หรือว่าเป็นหัวหน้า เป็นประธานในการรู้อารมณ์นั่นเอง อย่างทางตาที่เห็นสีเป็นจิต ส่วนที่จะชอบหรือไม่ชอบเป็นสภาพธรรมอื่นที่เกิดพร้อมกับจิต หรือว่าความรู้สึกโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต แต่ในขณะที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ มีการสืบเนื่องกัน คือ มีการเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ ถ้าจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้วไม่เกิดต่อก็ไม่มีการปรากฏอะไรให้รู้ได้เลย แต่ถึงแม้เมื่อจิตดับไปแล้ว ก็เกิดอีก สืบต่อไว้อีก เห็นเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว มีปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเห็นอีก ได้ยินอีก ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน มีชีวิตอยู่ที่ไหนก็มีจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกได้ทุกแห่ง ไม่ว่าในสถานที่ใด ทรงแสดงลักษณะของจิตทุกชนิดว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนา เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

สภาพของจิตนั้นมีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน ในบางแห่ง เช่น ในสัมโมหวิโนทนีย์กล่าวว่า มีสังขารเป็นปทัฏฐาน หรือมีวัตถุและอารมณ์เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องเจริญเป็นปกติเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏตามปกติให้ทั่ว ได้มากเท่าไรปัญญาก็จะรู้ชัดแล้วละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากเท่านั้น

อย่างใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรม วินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ

ในจิตตานุปัสสนา ทรงแสดงนัยของการพิจารณาไว้ ๑๖ ประการในเรื่องของจิต เริ่มด้วยจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เพราะวันหนึ่งๆ ราคะมาก โลภมูลจิตเป็นพื้นเป็นประจำที่จะให้ระลึกได้ ก็ควรที่จะระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล แต่โดยมาก เพราะไม่เจริญสติ ไม่เข้าใจการเจริญสติ จึงกล่าวว่าเจริญสติไม่ได้ แต่ในพระไตรปิฎก สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 117


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ