การเจริญสติ ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะให้มีสติมากๆ -123

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44270
อ่าน  187

การเจริญสติ ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะให้มีสติมากๆ แล้วไม่รู้ลักษณะของนาม ลักษณะของรูปโดยทั่วถึง แต่การเจริญสติจะน้อยจะมากอย่างไรก็ตาม ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจทั่วขึ้น จึงจะชื่อว่าสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ท่านจะเข้าใจข้อความต่อไปใน ทุกขธรรมสูตร ซึ่งมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงให้หยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ทีนั้นแล น้ำนั้นพึงถึงความสิ้นไป เหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมอันเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล

ถ้าเป็นผู้ที่สังวร คือ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีธรรมเครื่องประพฤติ ธรรมเครื่องอยู่ คือ การสังวรติดตามไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ด้วยการสังวรระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนปัญญารู้ชัดเป็นปกติ พอระลึกได้ก็เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปทั้ง ๖ ทาง

ต้องเป็นอย่างนี้ ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับเป็นอุทยัพพยญาณ ทางตาเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป ตลอดไปจนถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเจริญมากขึ้น ความรู้ชัดจะเพิ่มขึ้น ทันทีที่ระลึกก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น ปัญญาจะรู้ชัดจนกระทั่งไม่ว่าจะหลงลืมสติไป แต่พอสติระลึกได้เมื่อไร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้นทั้ง ๖ ทาง ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ ละคลาย เจริญสติทั่วถึงทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาที่หลงลืมสติเป็นบางครั้งบางคราว หรือว่าการบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า เพราะเหตุว่าสติก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดติดต่อไป หรือว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งบางคราวสติก็เกิดช้า หลงลืมสติ

ภิกษุนั้นแล ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน

ซึ่งไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติเลย เพราะเหตุว่าพอระลึกก็เป็นลักษณะของนาม เป็นลักษณะของรูปได้ทันที

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

บุรุษพึงให้หยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ทีนั้นแล น้ำนั้นพึงถึงความสิ้นไป เหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลันฉันนั้น เหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล

ที่กล่าวว่า เหมือนกับหยาดน้ำ ๒ - ๓ หยดที่หยดช้าๆ ตกลงไปในกระทะที่ร้อนจัด กระทะที่ร้อนจัดไม่ได้หมายความว่า ไปใช้เวลาสัก ๑๕ วันให้สติเกิดติดต่อกัน แต่เป็นการเจริญความรู้ ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นธรรมเครื่องประพฤติ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นปกติ จนปัญญารู้ชัด

ถึงแม้ว่าจะหลงลืมไป พอสติระลึกได้ ก็สามารถที่จะละอกุศลธรรมนั้นได้โดยเร็วพลัน เหมือนกับหยาดน้ำที่หยดลงในกระทะที่ร้อนจัด คือ ร้อนเพราะปัญญาความรู้ทั่ว ไม่ใช่ว่ารู้อย่างเดียว พอทางตามา ไม่รู้แล้ว ทางหูปรากฏ ไม่รู้แล้ว ถ้าอย่างนั้นจะละอภิชฌา และโทมนัสทางตา ทางหูได้อย่างไร จะละอวิชชาความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหูที่ไม่เคยระลึกรู้ได้อย่างไร

ผู้ที่อุปมาเหมือนกับกระทะที่ร้อนจัดตลอดวัน คือ ผู้ที่มีปัญญารู้ทั่ว ไม่ว่าจะเป็นนามเป็นรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่ามีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ถึงแม้ว่าจะหลงลืมสติไปและสติจะเกิดช้า แต่เพราะเหตุว่าปัญญารู้ทั่วแล้ว ทันทีที่ระลึก ก็เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น อกุศลธรรมก็ไม่สามารถที่จะครอบงำได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 123


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ