การที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้
ถ. สรุปได้ว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ หรือวิญฺญาตํ เป็นการจำแนกอารมณ์ซึ่งเป็นรูปและเป็นนามเท่านั้นเอง ไม่ใช่จะต้องกำหนดว่า โสตํ ให้รู้ทางหูโดยเฉพาะ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่พยัญชนะที่ว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ วิญฺญาตํนี้จะมีความหมายว่าเป็นตัวรู้ไปจะได้หรือไม่
สุ. ดิฉันได้กราบเรียนถามพระคุณเจ้าที่มีความรู้ทางภาษาบาลี ท่านก็ กล่าวว่า ทิฏฺฐํ ได้แก่ รูปารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา โสตํ ได้แก่ สัททารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยหู มุตฺตํ ได้แก่ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย
ดิฉันได้กราบเรียบถามท่าน ย้ำแล้วย้ำอีกหลายครั้ง แต่พยัญชนะก็แสดงว่า หมายความถึงอารมณ์
การที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ ผู้นั้นจะต้องเจริญข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูก และทิ้งข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้ายังมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดหลงเหลืออยู่ไม่ทิ้งไป ก็หมดโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าขณะนี้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏเลย จะมีข้อประพฤติปฏิบัติอื่นใดที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ท่านที่มีความโกรธแรงกล้า สติอาจจะเกิดขึ้นระลึกนิดเดียว แต่เพราะโทสะมีกำลังแรง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดต่อไปอีกถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ วันหนึ่งปัญญาของท่านก็จะต้องระลึกรู้ แล้วละสิ่งที่ท่านเคยระลึกตอนที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ซึ่งอารมณ์ก็ไม่ผิดแปลกไปจากขณะปกติธรรมดาที่สติเริ่มเกิดเลย แต่ปัญญารู้ชัดขึ้น แล้วก็ละได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...