อภิชฌากายคันถะ ๑ คือเครื่องผูกไว้ไม่ให้หลุดไป
ในคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑ คันถะนี้คือเครื่องผูกไว้ไม่ให้หลุดไป โดยสภาพของเจตสิก ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑
ในเรื่องของอาสวะก็ดี โอฆะก็ดี โยคะก็ดี อกุศลธรรมที่เป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ ได้แก่ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก แต่พอถึงคันถะ ๔ โลภะก็ยังคงเป็นคันถะ ทิฏฐิก็ยังคงเป็นคันถะ แต่อวิชาไม่เป็นคันถะแล้ว เพิ่มอีกคันถะหนึ่ง คือ โทสะ ได้แก่ พยาปาทกายคันถะ ซึ่งสภาพธรรมที่ได้ทรงจำแนกไว้เป็นประเภทก็ต้องเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นต้นว่า อภิชฌากายคันถะที่เป็นเครื่องผูก ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในอารมณ์ทั้งปวง ในวงศาคณาญาติ ในพวกพ้อง ในเพื่อนฝูง ในมิตรสหาย เป็นเครื่องผูกประการหนึ่ง
บางท่านไม่มีความเห็นผิดอย่างพวกพ้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย แต่ก็ไม่สามารถไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะมีความคลุกคลี เป็นพวกพ้อง เป็นเพื่อนฝูงกับหมู่คณะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหมว่า ความใกล้ชิด ความคลุกคลีกับหมู่คณะ กับพวกพ้อง ถึงแม้ว่าความเห็นของท่านไม่เหมือนกับหมู่คณะพวกพ้องก็จริง แต่กระนั้นความคลุกคลี ความสนิทสนม การงานที่ต้องประกอบร่วมกันก็อาจจะเป็นเครื่องผูกอันหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่ไปสู่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกได้ เป็นไปได้ไหม
ท่านที่เห็นแก่บุคคล ไม่ได้เห็นแก่ธรรม เป็นอภิชฌากายคันถะที่จะผูกไว้กับหมู่คณะหรือพวกพ้อง อภิชฌากายคันถะก็เป็นเครื่องผูกอันหนึ่ง โลภเจตสิกมีกิจทางฝ่ายอกุศลครบถ้วนทุกประการทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาสวะ ไม่ว่าจะเป็นโอฆะ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ไม่ว่าจะเป็นคันถะ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...