พระปัญจวัคคีย์ทูลของบรรพชาอุปสมบท

 
สารธรรม
วันที่  1 ต.ค. 2565
หมายเลข  44474
อ่าน  233

พระวินัยปิฎก มหาวรรค พระปัญจวัคคีย์ทูลของบรรพชาอุปสมบท มีข้อความว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน กราบทูลขออุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา ครั้นต่อมาพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดกับท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ ท่านทั้งสองได้กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้ง ๓ นำมาถวาย ได้ประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถา ภิกษุเที่ยวบิณฑบาต นำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูปก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น

วันต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแก่ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิ ท่านทั้ง ๒ ได้เห็นธรรมแล้ว กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา

ทั้ง ๕ รูป บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ซึ่งจากพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้มีข้อความชัดเจนว่า ท่านผู้ใดไปบิณฑบาตกับใครในวันไหน มีข้อความแต่เพียงว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุในวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วพระภิกษุ ๓ รูปไปบิณฑบาต ๒ รูปฟังโอวาท

อรรถกถาปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรกถา ปาสราสิสูตร และอรรถกถา โพธิราชกุมารสูตร และใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถา พระวินัย มหาวรรค ก็มีข้อความตรงกัน ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความของอรรถกถา มีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงใคร่ครวญว่า ผู้ใดสมควรที่จะได้ทรงอนุเคราะห์แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จจากโพธิมณทลไปยังพาราณสี ก็ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแล้วในวันอุโบสถนั้นเอง ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหะ คือ วันอุโบสถ วันเพ็ญ เดือน ๘ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ตก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล

พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จไปสู่บ้านแม้เพื่อบิณฑบาต จำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ ทั้งนี้เพื่อทรงโอวาทและทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ เมื่อปัญจวัคคีย์รูปใดสงสัยก็ได้ไปเฝ้าทูลถาม และแม้พระผู้มีพระภาคเองก็เสด็จไปทรงอนุเคราะห์ยังที่ภิกษุนั้นนั่งอยู่ ทรงสละแม้เวลาเสวยพระกระยาหาร พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ๒ รูป ๓ รูปไปบิณฑบาต และทรงโอวาท ๓ รูป ๒ รูปไปบิณฑบาต

ซึ่งข้อความในอรรถกถาก็ไม่ได้บอกว่า พระปัญจวัคคีย์รูปใดไปกับรูปใด เพราะเหตุว่า เมื่อได้รับฟังโอวาทแล้ว แม้ว่าจะไปบิณฑบาตก็จะต้องเจริญสติด้วย

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ท่านพระวัปปะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๑ ค่ำ คือวันรุ่งขึ้นจากที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๔ ค่ำ และในวันแรม ๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุธรรม สิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์

จะเห็นได้ว่า ที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันอุโบสถ คือ วันอาสาฬหะ วันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น

ในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม ๑ ค่ำ ท่านพระวัปปะเป็นพระโสดาบัน ได้บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๔ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรม

โดยนัยนี้ จะต้องมีปัญจวัคคีย์ที่ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมไปบิณฑบาตด้วยเพราะว่าจำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต แต่พระปัญจวัคคีย์ไปบิณฑบาต ๓ รูป และฟังโอวาท ๒ รูป สลับกัน จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ฟังอนัตตลักขณสูตรเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาเลยในเรื่องที่ว่า เป็นผู้เจริญสติในขณะที่บิณฑบาต หรือว่าทรงจีวร สังฆาฏิ กระทำกิจใดๆ ก็ตาม

ถ. เมื่อครู่ท่านอาจารย์พูดถึงปัญจวัคคีย์ที่ว่า ๒ องค์รับโอวาทคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค อีก ๓ องค์ไปบิณฑบาต ขอทราบว่า ในสมัยพุทธกาล การบิณฑบาตในสมัยนั้น หรือการฉันนั้น ฉันอย่างไร ๓ องค์รับโอวาท อีก ๒ องค์ไปบิณฑบาต แล้วจะพอฉันหรือ ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยง ช่วยอธิบายด้วย

สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยในเรื่องของการฉันภัตตาหาร ในครั้งนั้นท่านฉันกันอย่างไร ซึ่งตามวิสัยของท่านผู้เป็นบรรพชิต ก็แล้วแต่ว่า ท่านผู้นั้นจะมีข้อปฏิบัติอย่างไร อย่างท่านพระปัญจวัคคีย์ก็คงจะทราบว่า เป็นผู้นิยมการทรมานตนก่อนที่จะได้ฟังธรรม แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารจนกระทั่งทรงมีพระกำลัง ปัญจวัคคีย์ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคนั้นทรงย่อท้อ และไม่ได้ประพฤติหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ แต่ในครั้งพุทธกาลเมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาทูลขอบรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ยังไม่ได้มีการห้ามการฉันภัตตาหารแต่ประการใด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 143

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 144


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ