การประจักษ์สภาพของรูป

 
สารธรรม
วันที่  11 ต.ค. 2565
หมายเลข  44632
อ่าน  219

ถ. มีผู้ที่สงสัยว่า พิจารณารูปนามให้กระจัดกระจาย แตกอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ไม่ถูกกับหลักฐานด้วย เพราะกระจัดกระจายนามรูปออกไป ส่วนใหญ่เป็นส่วนย่อย ส่วนย่อยขนาดเล็กเท่าเมล็ดทรายหรือปรมาณูก็ตาม ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่นั้นต้องมี คือ อวินิพโภครูป ๘ จะย่อยอย่างไรก็ยังมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่นั่นเอง อย่างรูปนั่งคน จะดูอย่างไร ไม่ให้รูปเป็นกลุ่มก้อน เพราะรูปทุกรูปต้องมีอวินิพโภครูป ๘ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่อาจารย์อธิบายเขาไม่เห็นด้วยเลย

สุ. สำหรับการรู้ลักษณะของนามและรูป มีสิ่งที่ให้พิสูจน์อยู่ทุกขณะ ขอให้พิสูจน์เป็นทางๆ ไป เป็นต้นว่าทางตา อะไรกำลังปรากฏ สีสันวรรณะต่างๆ ที่เราใช้คำว่าสี หรือวรรณะ รูปารมณ์ ก็ตามแต่ หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่ลืมตาขึ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ทางตา เป็นของจริงแน่นอน มีท่านผู้ใดที่กำลังเห็นแล้วปฏิเสธว่า ไม่มีสิ่งใดปรากฏทางตาเลย เพราะทันทีที่ท่านลืมตาก็มีสิ่งต่างๆ ปรากฏให้เห็นทางตา หลับตาจะเห็นสิ่งต่างๆ ทางหูได้ไหม ไม่ได้ มีแต่ เสียงปรากฏทางหู

เพราะฉะนั้น การประจักษ์สภาพของรูป ทั้งๆ ที่รูปยังไม่แตกย่อยกระจัดกระจาย แต่ปัญญาระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริง ถ้ามีลักษณะเย็นที่ปรากฏกระทบกาย ไม่ใช่จุดเล็กๆ จุดเดียวจนกระทั่งมองไม่เห็นหรือกระทบไม่ได้ แต่หมายความว่า จะเป็นกี่กลาปก็ตาม จะมากจะน้อยก็ตาม แต่ลักษณะนั้นปรากฏทางตาท่านก็รู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางหูรู้ว่าลักษณะหนึ่งปรากฏทางจมูกรู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางลิ้นรู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางกาย เย็นก็ไม่ใช่ร้อน อ่อนก็ไม่ใช่แข็ง ตึงก็ไม่ใช่ไหว เพราะถ้าขณะที่กำลังระลึกลักษณะที่แข็งที่ปรากฏ โดยที่ไม่เอาความจำมาเชื่อมมาโยงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็จะมีแต่เฉพาะลักษณะที่แข็งเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเอาทางตามารวมด้วย หลับตาเสีย แข็งส่วนใดที่ปรากฏ ลืมตา แข็งก็ยังปรากฏที่ส่วนนั้น แต่เวลาที่ไม่พิจารณาลักษณะของรูปทีละรูป ก็เอารูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมาเชื่อมมาโยงทำให้ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะละได้ก็เพราะสติระลึกแล้วรู้ในลักษณะที่ปรากฏแต่ละลักษณะ

ฆนสัญญา ความประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะแตกย่อยหมดสิ้นไปได้ด้วยการระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามที่เป็นรูป


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 155


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ