ความเห็นจะวิสุทธิได้ ก็เพราะความเห็นถูกต้องอย่างถ่องแท้
ถ. ใน วิสุทธิมรรค ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนเหมือนกันในเรื่องรูปกลาป แต่ละกลาปมีรูปอยู่ ๘ รูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แต่ความปรากฏของรูปที่มาประชุมรวมกัน รูปเดียวเท่านั้นที่จะปรากฏได้ทางตา คือ สี เย็นจะปรากฏได้ทางกาย และอย่างอื่นก็ปรากฏอย่างละรูปๆ แต่รูปทั้งหมดนี้มาทั้งกลุ่มจริงๆ ทั้ง ๘ รูปจริงๆ แต่จะปรากฏได้ทีละหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปรากฏหมดทั้ง ๘ อย่าง และท่านยังสรุปอีกว่า เมื่อถึงคราวที่ทิฏฐิจะวิสุทธิได้ ต้องมี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหนึ่งจะต้องรู้สามัญลักษณะ อีกลักษณะหนึ่งจะต้องรู้สภาวลักษณะ
สามัญลักษณะ คือ รู้ความเป็นอนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตาของรูป
สภาวลักษณะ ท่านแสดงไว้ว่า ผัสสะมีหน้าที่ทำอะไร เวทนาเป็นอย่างไร เสวยอารมณ์อย่างไร ปฐวีลักษณะเป็นอย่างไร คือ ความแข็ง ความกระด้าง ถ้าไม่รู้สภาวะหรือสามัญลักษณะอย่างนี้ ทิฏฐินั้นจะถึงความวิสุทธิไม่ได้ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ไม่ว่าคัมภีร์ไหนๆ ถ้าอ่านแล้วจะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด
สุ. การที่ทิฏฐิ ความเห็นจะวิสุทธิได้นั้น ก็เพราะความเห็นถูกต้องอย่างถ่องแท้ในสภาพ ๒ อย่าง คือ สามัญลักษณะอย่าง ๑ สภาวลักษณะอย่าง ๑
คำว่า สามัญลักษณะ หมายความถึงลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย ไม่เว้น เป็นสามัญ ทั่วไปแก่สังขารธรรมทั้งหลาย คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกข์ และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตา ที่เคยได้ยินได้ฟังกันบ่อยว่า อนิจํ ทุกฺขํ อนัตฺตา เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวง
อีกอย่างหนึ่งที่ว่า ทิฏฐิจะวิสุทธิได้เพราะรู้ในสามัญลักษณะ และ สภาวลักษณะ หมายความว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะของตนปรากฏจริงๆ อย่างเสียงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริง เพราะว่าปรากฏทางหู สภาพที่รู้เสียงมีเป็นปกติ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนอกจากจะรู้สามัญลักษณะ ยังรู้สภาวลักษณะของสภาพธรรม จึงจะสามารถมีทิฏฐิวิสุทธิ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...