โอฆะ คือ ห้วงน้ำ ได้แก่ อกุศลธรรม ๔ ประเภท
ในพระไตรปิฎก เรื่องของโอฆะ ๔ คำว่า โอฆะ คือ ห้วงน้ำ ได้แก่ อกุศลธรรม ๔ ประเภท คือ
๑. กาโมฆะ (กาม-โอฆะ) ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นห้วงน้ำที่ทำให้สัตว์โลกจมอยู่ในวัฏฏะ
เป็นปกติในชีวิตประจำวันไหม มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือว่าใครไม่มี ทุกวันๆ นี้อยู่ในห้วงน้ำ หรืออยู่บนบก เพราะฉะนั้น ในปกติประจำวันนั้นทุกคนไม่ได้อยู่บนบก ซึ่งขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะนั้นเป็นการว่ายเพื่อจะให้ถึงฝั่ง คือ การพ้นจากโอฆะทั้ง ๔
๒. ภโวฆะ (ภพ-โอฆะ) ความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในขันธ์
๓. ทิฏโฐฆะ (ทิฏฐิ-โอฆะ) ห้วงน้ำ คือ ความเห็นผิด ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จมอยู่อีกแล้วในห้วงน้ำของทิฏฐิ เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ในขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะนั้นไม่ได้ว่าย ยังไม่สามารถไปถึงฝั่งได้เลย คงจมอยู่ในห้วงของโอฆะ
๔. อวิชโชฆะ (อวิชชา-โอฆะ) ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังมีอวิชชาอยู่
เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัน ทุกๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ ไม่ได้อยู่บนบก อยู่ในน้ำ อยู่ในห้วงน้ำ อยู่ในห้วงของกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ใช่การว่ายน้ำบนบก การเจริญสติแต่ละขณะจะทำให้สามารถไปถึงฝั่งบนบกได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...