การรู้แจ้งหรือว่าการแทงตลอดสัจธรรมนั้น เป็นการยากเพียงไร

 
สารธรรม
วันที่  14 ต.ค. 2565
หมายเลข  44694
อ่าน  212

ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งอดีต เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นว่า การรู้แจ้งหรือว่าการแทงตลอดสัจธรรมนั้น เป็นการยากเพียงไร

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค กามทสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

กามทเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระ-ภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยากยิ่ง

ซึ่งข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย มีว่า

เทพบุตรนี้ได้เป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรในกาลก่อน แล้วข่มกิเลสด้วยการประกอบความเพียร แต่เพราะเป็นผู้ที่มีกิเลสกล้า กระทำสมณธรรมก็ไม่บรรลุ อริยภูมิ เพราะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในกาลก่อนน้อย แล้วกระทำกาลกิริยา บังเกิดใน เทวโลก เทพบุตรนั้นไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค กราบทูลซึ่งเรื่องการกระทำได้โดยยาก เพราะเป็นการกระทำที่ต้องเจริญนาน

รู้ยาก หรือรู้ง่าย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ที่กำลังเกิดดับจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนเลย ที่จะประจักษ์และทำให้ถึงอริยภูมิได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยศีลแห่งพระเสขะ มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมกระทำแม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยาก ความยินดีย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ไม่มีเรือน

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่หาได้ยากนี้ คือ ความสันโดษยินดี

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่าใดมีใจยินดีแล้วในความอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก

การอบรมจิต คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เพราะไม่ว่านามธรรมใดจะเกิดขึ้น ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ท่านผู้ใดมีความตระหนี่เกิดขึ้น สติระลึกได้ว่า ยังมีกิเลสที่ไม่ได้ละคือความตระหนี่ เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ก็มีปัจจัยเกิดขึ้นได้ ท่านผู้ใดกำลังริษยา คนอื่นไม่รู้เลย สติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมตน คือ ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ขัดเกลา การละคลายกิเลสจึงจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้เป็นลำดับ แต่ไม่ใช่ว่า ให้ท่านไปบังคับไว้ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดริษยา ไม่ให้เกิดตระหนี่ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ท่านจะไม่รู้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะไม่ถึงแม้ปัจจยปริคคห-ญาณ เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์ ชนเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก

ดูกร กามทเทวบุตร อริยะทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุได้

การสนทนาระหว่างกามทเทวบุตรกับพระผู้มีพระภาคก็ได้เป็นไปในเรื่องของสติปัฏฐาน ตามข้อความที่กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต

จิตตั้งมั่นไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกในขณะที่กำลังเห็น เพลินไปอีกแล้ว เป็นตัวตนมากมายทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตไม่ตั้งมั่นเสียเลย ท่านจะกล่าวว่าอย่างนี้ เพราะท่านมุ่งหมายที่จะให้จิตตั้งมั่น คือ สติมั่นคง สติมั่นคงนี้หมายความว่า ระลึกได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นขณะไหน ขณะที่กำลังเห็น สติก็ระลึกได้ เห็นสิ่งที่ประณีต สติก็ระลึกได้ เห็นสิ่งที่น่าขัดเคือง สติก็ระลึกได้ นั่นคือสติที่มั่นคง แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น

การที่สติจะมั่นคง จิตจะมั่นคง เป็นเรื่องของการอบรมจิต

ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์

ในความสงบอินทรีย์ คือ ระลึกรู้นามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทันที ถ้าสติไม่ระลึกทันที ขณะนั้นจิตไม่สงบ หวั่นไหวไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความเป็นตัวตน แต่เวลาที่สงบอินทรีย์ คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่เสมอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กามทเทวบุตร อริยะทั้งหลายย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอที่ไปได้ยาก ผู้มิใช่อริยะย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย เพราะอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอในทางอันไม่สม่ำเสมอ

เวลานี้ทางที่ไปได้ยากเพราะไม่สม่ำเสมอ ยังเป็นของท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล หรือว่ายังไม่มีความมั่นคงในข้อปฏิบัติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 161

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 162


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ