พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่า มีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44710
อ่าน  209

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่า มีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ

ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในโสตะ ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ

ข้อความต่อไปเป็นทวารอื่น โดยนัยเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องไม่รู้ เรื่องรู้ทั้งนั้น ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ก็เมื่อท่านผู้มีอายุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอนุสัย คือ ความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี

การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นเรื่องของการไม่ครองเรือน เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นได้รับคำถามถึงการถอนอนุสัย คือ ความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ภิกษุรูปนั้นก็กล่าวตอบว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นผู้ครองเรือน ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคตบ้าง สาวกของพระตถาคตบ้าง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต ข้าพเจ้าประกอบได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัดแล้วนี้ มิใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด

นี่สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมอบรมบารมีที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต เมื่อท่านบวชเป็นผู้ที่ทรงศีล ท่านกล่าวว่า

ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีกจะบินไปที่ใดๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตนเท่านั้นบินไป ซึ่งเมื่อท่านบวชแล้ว ประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ มีการเห็นรูป เป็นต้น ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดู และเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยวและลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด และนิ่ง

เจริญสติทุกๆ ขณะที่จะเป็นไปได้ ไม่เว้น อย่างเวลาที่ประกอบกิจการงาน ในพระวินัยปิฎกจะไม่พ้นไปจากการประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะ ในขณะที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู งอแขน เหยียดแขน เป็นเรื่องของการประกอบกิจการงานในชีวิตประจำวัน

เมื่อท่านบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ประกอบด้วยศีลของบรรพชิต ประกอบด้วยอินทรียสังวรแล้ว ข้อความต่อไปมีว่า

ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง

ท่านจะเห็นการเจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ได้ฟังธรรม มีอัธยาศัยในการออก บรรพชา อุปสมบทเป็นบรรพชิต ประกอบด้วยศีลของบรรพชิต ประกอบอินทรียสังวร มีการเจริญสติปัฏฐาน แล้วจึงมีความยินดีในเสนาสนะที่สงัด

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา

ละความชั่ว คือ พยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่ว คือ พยาบาท

ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ต่อจากนั้นเข้าฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จนถึงจตุตถฌาน

ถ้าท่านผู้ใดพบพยัญชนะที่เกี่ยวกับเสนาสนะป่า หรือซอกเขา โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฏ ลอมฟาง ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่เจริญความสงบแล้วก็ได้ฌาน ไม่ใช่ว่าท่านสับสนกันในการเจริญสติปัฏฐานและในการเจริญสมถภาวนา เพราะก่อนที่ท่านจะยินดีในเสนาสนะอันสงัด ท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยอินทรียสังวร คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ และได้ฌานด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ

บางท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ เช่น บางท่านคิดว่าขณะที่กำลังเข้าใจความหมาย เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จะต้องกั้นอยู่เพียงแค่เห็น ไม่ให้รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก เพราะการรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 164

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 165


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ