พยายามพากเพียรปฏิบัติโดยวิธีต่างๆ เท่าที่ได้ยินได้ฟัง

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44713
อ่าน  159

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งก่อนนั้นสนใจเจริญวิปัสสนา ได้พยายามพากเพียรปฏิบัติโดยวิธีต่างๆ เท่าที่ได้ยินได้ฟัง แต่เมื่อท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดา ไม่ต้องไปทำให้ผิดปกติ ไม่ต้องไปทำให้ผิดธรรมดาเลย เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อท่านมีความตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ ท่านก็ถูกชักชวนให้ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ซึ่งเป็นสถานที่ที่จำกัดในข้อปฏิบัติ จำกัดในการรู้ลักษณะของนามและรูปว่า ให้รู้เฉพาะบางรูปบางนาม หรือว่าบางอารมณ์เท่านั้น ซึ่งท่านผู้นั้นก็ได้กล่าวกับผู้ที่ชักชวนท่านว่า ท่านได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะมากจะน้อยก็เป็นเรื่องของสติ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ท่านที่ชักชวนก็กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นจะไม่ได้ผล เพราะเหตุว่าช้า ไม่เหมือนกับการไปสู่สถานที่ที่จำกัด ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่ทำให้สามารถที่จะได้รับผลอย่างรวดเร็ว ท่านก็กล่าวตอบว่า ถ้าไปสู่สถานที่ที่จำกัด และจำกัดความรู้เฉพาะบางนามบางรูป ท่านก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น ผลที่ได้ จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ หรือญาณอื่นๆ ก็ตาม ก็เป็นการไม่รู้อะไร แต่มุ่งหวังในผลอย่างรวดเร็ว โดยการรู้เฉพาะเพียงบางนามบางรูป ก็ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างทั่วถึง

สำหรับตัวท่านเอง ท่านเจริญสติปัฏฐานเพื่อความรู้ในชีวิตของท่านจริงๆ สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับท่านเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ท่านเจริญสติเพื่อรู้ว่า ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น มีความชอบใจ เพราะอาศัยทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่เกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ความอิสสา หรือสภาพของมานะ ความสำคัญตน ท่านก็เจริญสติเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะวินิจฉัย พิจารณา ตัดสินได้ว่า ข้อปฏิบัติใดจะทำให้เกิดญาณ ความรู้ที่ชัดเจนในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับตัวท่านเป็นปกติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

และสำหรับญาณต่างๆ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด เครื่องเทียบว่าเป็นวิปัสสนาญาณ หรือว่าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ซึ่งวิปัสสนาญาณนั้น เป็นความรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ ไม่มีลักษณะจริงๆ ของอารมณ์ปรากฏให้รู้ชัด จะกล่าวว่า มีปัญญารู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลานี้อารมณ์ปรากฏ ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ท่านต้องการวิปัสสนา-ญาณกันมาก จนข้ามความรู้ในลักษณะของอารมณ์ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 165


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ