ต้องทำสมาธิจนเกิดอภิญญา ได้อภิญญาถึงจะเห็นอนัตตา จริงหรือ
ถ. ดิฉันสนใจธรรม ฟังหลายๆ อาจารย์ มีปัญหาข้องใจ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้เจริญสติ รู้นามชนิดหนึ่งที่ปรากฏ ให้พิจารณานามที่ปรากฏว่าเป็นธรรม จะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แต่เคยไปฟังที่อื่น อาจารย์ที่นั่นบอกว่า ต้องทำสมาธิจนเกิดอภิญญา ได้อภิญญาถึงจะเห็นอนัตตา ก็ต่างกันกับท่านอาจารย์
สุ. ต่างกับพระไตรปิฎก
ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร อุทเทสวารคาถา แสดงข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
จบ อุทเทสวาระ
มีข้อความอะไรที่กล่าวว่า ต้องได้อภิญญาเสียก่อน
ใน อุทเทสวาระ ทรงแสดงว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ธรรมที่ถูกต้อง ที่จะทำให้แจ้งพระนิพพาน คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แต่เพราะว่ากายมีปรากฏลักษณะต่างกันเป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง เวทนาก็มีหลายชนิด มีทั้งโสมนัส มีทั้งโทมนัส มีทั้งอทุกขมสุข มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ จิตก็มีต่างๆ หลายประเภท ธรรมก็มี ต่างๆ หลายประเภท เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรมข้ออื่นอีก ทั้งพระอภิธรรมปิฎกและพระสุตตันตปิฎก เพื่อที่จะให้ได้ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรมต่างๆ ที่เกิดปรากฏกับท่านให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่โดยอุทเทสวาระ คือ ระลึกรู้ลักษณะของกาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกรู้ลักษณะของธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ธรรมถูกต้อง และทำให้แจ้งพระนิพพานได้
นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังคำของบุคคล ก็พิจารณา ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็หลงลืมสติ อกุศลก็เกิดมาก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...