ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่ บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
สัตว์นั้นเมื่อกำลังเขาฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
แม้แต่เรื่องของทาน ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะทำให้จิตใจของท่านบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ ถ้าท่านจะถวายภัตตาหารที่ประณีตก็ไม่ควรจะฆ่าสัตว์และปรุงอาหารถวาย แต่ถ้ามีเนื้อสัตว์ และท่านเป็นที่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ มีกุศลจิตเกิดขึ้นที่จะถวายภัตตาหารก็ควรถวาย เพราะเหตุว่าการหมดกิเลสไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการบริโภคสิ่งใด แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจในขณะที่กำลังบริโภค ถึงท่านจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย แต่ยังเป็นผู้ที่ยินดีในรสทุกคำข้าวที่บริโภค กับผู้ที่แม้กำลังบริโภคเนื้อสัตว์ แต่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็เป็นผู้ที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ส่วนผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ติดข้องยินดีในรสที่ประณีต ก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลสได้ด้วยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...