นั่งสมาธิ ... ไม่ค่อยได้

 
oom
วันที่  16 ส.ค. 2550
หมายเลข  4564
อ่าน  1,745

ทุกวันนี้ไม่เคยนั่งสมาธิเลย เพราะนั่งแล้วง่วงนอน เคยฟังธรรมของ อ.สุจินต์ ว่าสมาธิทำให้เกิดไม่ได้ จะเกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัยและการสะสมมา สมาธิคือ จิตที่มีความสงบจากอกุศลต่างๆ ดิฉันชอบมาก เพราะแบบนี้ปฏิบัติได้ง่าย คือการระลึกรู้ว่าตอนนี้ จิตเกิดอกุศลหรือกุศล ส่วนใหญ่ดิฉันจะพิจารณาแบบนี้ได้บ้างไม่ได้บ้าง อยากทราบว่าจริงๆ แล้วเราต้องนั่งสมาธิหรือไม่?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 16 ส.ค. 2550

คำว่า สมาธิ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ต้องไปทำ เพราะทำไม่ได้ สมาธิเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดเพราะมีปัจจัย พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน แก่สาวกทั้งหลายให้ฟังพระธรรม เพื่อการอบรมเจริญปัญญา การอบรมเจริญปัญญา ด้วยการค่อยๆ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่มีจริงมีอยู่ ตลอดเวลาตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาก็มีตลอด ถ้าไม่รู้เป็นอวิชชา ควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจก่อน ไม่ควรไปทำสมาธิโดยไม่มีความเข้าใจอะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 ส.ค. 2550

การทำสมาธิ ให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญา ก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต เพราะโลภมูลจิต และกามาวจรกุศลจิต มีเวทนาประเภทเดียวกันเกิดร่วมกันด้วย ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำสมาธิ ไม่ต้องการให้จิตวุ่นวาย เดือดร้อนกังวลไปกับเรื่องราวต่างๆ พอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยไม่รู้ว่าขณะที่กำลังต้องการให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ที่ต้องการนั้น ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
oom
วันที่ 16 ส.ค. 2550

จริงเหมือนที่ อจ.ว่าค่ะ คือ เวลานั่งสมาธิก็อยากให้จิตสงบ แต่ก็ไม่เห็นสงบเลย กลับกลายเป็นกิเลสที่อยากได้ความสงบและก็ไม่ได้ มีแต่ฟุ้งซ่าน และก็รู้ตัวตลอดว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร จึงคิดว่าไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ เพราะทั้งลืมตา หลับตา ก็ไม่ต่างกันเลย ขณะที่จิตปราศจากอกุศลขณะนั้น จิตก็เป็นสมาธิสงบเย็นได้ โดยไม่ต้องบังคับ หรือพยายามทำให้เกิด แต่สมาธิเกิดเองได้เหมือนอัตโนมัติ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 16 ส.ค. 2550

อย่าลืมนะครับ "สีลัพพตปรมาสกายคันถะ - การลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด"

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่

ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด (อปัณณกสูตร)


๑. คือเพื่อให้มีกำลังบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป

๒. ความหิว

๓. ความอึดอัดเพราะกินเกินประมาณหรือโทษต่างๆ ที่เกิดเพราะกินไม่รู้จักประมาณ

๔. ธรรมคือ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี คือนิวรณ์นั่นเอง

๕. เดินทำกัมมัฏฐานเพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถไปในตัว


ท่านทำอย่างนั้นได้ เหมือนกับว่าเราก็ทำได้ใช่ไหมครับ แต่ท่านไม่ได้บอกให้เราต้องไปฝืนทำอย่างนั้นด้วยอำนาจของอกุศลนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
oom
วันที่ 17 ส.ค. 2550

"สีลัพพตปรมาสกายคันถะ - การลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด" หมายถึง การปฏิบัติที่ดิฉันทำหรือคิดนั้น ผิดใช่หรือไม่ ช่วยอธิบายด้วยค่ะ จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 17 ส.ค. 2550

สีลัพพตปรมาสกายคันถะ คือการลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติอื่นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน หรืออริยมรรคเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 18 ส.ค. 2550

นั่งเพราะอะไร เพื่ออะไร เพียงคำตอบจะรู้ได้ว่าเริ่มต้นถูกหรือผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 ส.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ต้องเข้าใจว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึก ว่าขณะนี้เป็นกุศล ขณะนี้เป็นอกุศล เพราะขณะนั้นคิดนึก ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธัมมะว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิดนึกอย่างนั้น ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว แต่ให้รู้ความจริงว่า การอบรมปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดนึกถึงสภาพธัมมะที่ดับไปแล้ว ครับ เพราะขณะที่คิดนึกว่าเป็นกุศลหรืออกุศลก็เป็นเราที่คิดนึกนั่นเอง ยังไม่รู้ลักษณะ ของสภาพธัมมะว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นสิ่งที่ยากครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 18 ส.ค. 2550

สมาธิ คือ จิตที่แน่วแน่ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ ขณะที่เราตั้งใจฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล มีสมาธิ เกิดร่วมด้วย สงบจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nareopak
วันที่ 18 ส.ค. 2550

"ศีล สมาธิ ปัญญา" ทุกวันจะฟังธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์และพิจารณาตาม เวลาที่เพื่อนๆ สนทนากันในวงอาหาร ตัวเองได้ยินเสียงเพื่อนแต่ไม่ทราบว่าเพื่อนพูดอะไรเพราะ จิตจดจ่ออยู่ที่การเคี้ยวอาหาร (ได้ยินเสียงฟันกระทบกันดังกว่าเสียงเพื่อน) อย่างนี้เป็น สมาธิหรือไม่ ปัจจุบันนั่งสมาธิเพชร เหตุผลเพื่อสุขภาพและฝึกเวทนา (ความปวด) ก็ช่วยให้เราอดทนต่อเวทนาได้มากกว่าเก่า (อย่างเช่น เวลาปวดท้อง จะดูที่จิตก่อนจนถึงที่สุด หากไม่จำเป็นจะไม่พึ่งยาแก้ปวด) เมื่อนั่งสมาธิหลังจากสวดมนต์จะพิจารณาตามสภาวธรรมไปด้วยทุกครั้ง อาจเป็นเพราะสะสมมาเช่นนั้นจึงทำให้ต้องฝึกเป็นประจำใช่หรือไม่อย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 19 ส.ค. 2550

กุศลเกิดดับรวดเร็วมากสลับกับอกุศล ถ้าเป็นสัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะ การนั่งสมาธิเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ สัมมาสมาธิ เพราะมีโลภะแทรก คือ ต้องการให้สุขภาพแข็งแรง และที่ว่าจิตจดจ่อขณะที่เคี้ยวอาหาร เป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ เป็นสัมมาสมาธิก็ได้ อยู่ที่ความเข้าใจ และขณะนั้น มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เช่น ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ขณะที่เคี้ยวอาหาร ระลึกตรงลักษณะแข็งขณะนั้นจะไม่ปนกับทวารอื่นเลย ปรากฏนิดเดียวแล้วหมดไป ไม่มีเราระลึกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 19 ส.ค. 2550

จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นต้องประกอบด้วยสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิก ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สงสัยในความสงบ เพราะเกิดกับปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Nareopak
วันที่ 19 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาและขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
oom
วันที่ 20 ส.ค. 2550

การที่เราถูกตำหนิ หรือถูกคนต่อว่า เราสามารถรับฟังได้ โดยไม่มีอารมณ์โกรธหรือหวั่นไหวใดๆ กับคำพูดนั้นๆ รู้ถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าจิตสงบ ไม่หวั่นไหวหรือทุกข์กับคำพูดที่ได้ยินเลย ถือว่าเรามีสมาธิในการฟังเรื่องราวนั้นๆ ใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 20 ส.ค. 2550

สมาธิ คือ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้วนะคะ เพียงแต่จะมี อาการปรากฎออกมาในลักษณะตั้งมั่น หรือไม่ตั้งมั่นเท่านั้นเอง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตจึงจะสงบเป็นกุศล เพราะเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกอื่นๆ อีกหลายดวงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
oom
วันที่ 21 ส.ค. 2550

ขอบพระคุณค่ะ ที่ช่วยตอบข้อข้องใจ ช่วยให้มีความเห็นถูก การที่คนนั่งสมาธิหวังรักษาโรคภัย หรือต้องการผลตอบแทนต่างๆ ก็เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
อิสระ
วันที่ 21 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Sam
วันที่ 22 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 29 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 10 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ