กิเลส 1500 ... ตัณหา 108
เคยได้ยินได้ฟังว่าคนเรามีกิเลส ๑๕๐๐ และมีตัณหา ๑๐๘ หมายความว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ตัณหา ๑๐๘
ตัณหาหรือโลภะ ความยินดี พอใจ ติดข้องตัณหา แบ่งเป็น ๓ คือ ๑.กามตัณหา ๒.ภวตัณหา (ความยินดีพอใจในความเห็นผิดว่าเที่ยง) ๓.วิภวตัณหา (ความยินดีพอใจในความเห็นผิดว่าขาดสูญ) แบ่งเป็น ตัณหา ๑๘ เมื่อแบ่งในความยินดีพอใจในอายตนะภายใน ๖ (๖ คูณ ๓) แบ่งเป็น ตัณหา ๑๘ เมื่อแบ่งในความยินดีพอใจในอายตนะภายนอก ๖ (๖ คูณ ๓) รวมเป็น ตัณหา ๓๖ แบ่งเป็น ความยินดี พอใจ ใน ๑.อดีต ๒.อนาคต ๓.ปัจจุบัน (๓๖ คูณ ๓) จึงเป็น ตัณหา ๑๐๘
กิเลส ๑๕๐๐ หมายถึง หมู่กิเลสทั้งหมดนั่นเอง โดยมี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นประธาน หรือเป็นหัวหน้าของกิเลสที่เหลือครับ ซึ่งจะละกิเลส ๑๕๐๐ ได้หมดก็ต้องเป็นพระอรหันต์
เรื่อง กิเลส ๑๕๐๐
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 188
อีกอย่างหนึ่ง ญาณในมรรคทั้ง ๔ เรียกว่า โพธิ, ญาณที่เรียกว่าโพธิ เพราะทำหมู่กิเลส ๑,๕๐๐ ทั้งสิ้นให้สิ้นไป ด้วยญาณนั้นนั่นแหละแล้วบรรลุพระนิพพาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 620
บทว่า กิเลสา ฌาปิตา มยฺห ความว่า กิเลสทั้งหมดนับได้ ๑,๕๐๐ ซึ่งอยู่ในจิตตสันดานของข้าพระองค์ อันข้าพระองค์เผา คือทำให้ซูบซีดเหือดแห้ง พินาศไปแล้ว ด้วยอรหัตตมรรคญาณที่แทงตลอดแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 388
อีกอย่างหนึ่ง บรรดากิเลส ๑,๕๐๐ มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นประธาน เมื่อละทิฏฐิได้ด้วยโสดาปัตติมรรค กิเลสทั้งหมดนำสัตว์ไปสู่อบายพร้อมกับทิฏฐิ ย่อมละได้ด้วยการตั้งอยู่ในที่เดียวกัน ด้วย ปหานะ,ในกิเลสตั้งอยู่ในทีเดียวกันโดยการเกิดร่วมกัน
ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
... กิเลส ๑๕๐๐
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 728
บทว่า โลกสมุทโย ได้แก่ตัณหา ตามสุตตันตนัย แต่ตามอภิธรรมนัยได้แก่กิเลส ๑,๕๐๐ พร้อมด้วยอภิสังขารทั้งหลาย. บทว่า ปหีโน ได้แก่ ทรงละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้ ด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน ด้วยอรหัตตมรรคญาณที่โพธิมณฑล.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอบพระคุณมากค่ะที่ให้ข้อมูลเป็นความรู้ คงเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จะทำให้กิเลสของคนเราหมดไปได้ง่ายๆ เพราะดูแล้วมีทั้งกิเลสในอดีต ปัจจุบัน อนาคตอีกเยอะไปหมด สักกี่ภพกี่ชาติถึงจะกำจัดหมด แต่ก็จะเพียรพยายามเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเกิดอีก
กิเลส ๑๕๐๐ คือ
อารมณ์ ๑๕๐ x กิเลส ๑๐ = กิเลส ๑๕๐๐
อารมณ์ ๑๕๐ หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส คือ ธรรม ๗๕ [อรูปธรรม ๕๓ (คือจิต ๑ + เจตสิก ๕๒) + รูปรูป * ๑๘ + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป * * ๓] x ๒ (ภายใน + ภายนอก)
* มหาภูตรูป ๔, ปสาทรูป ๕, วิสัยรูป ๔, ภาวรูป ๒, หทัยรูป ๑, ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑
* * ลักขณรูปมี ๔ แต่อุปจยรูป และสันตติรูป นับรวมเป็น ๑ จึงนับลักขณรูปเป็น ๓
กิเลสจะมากแค่ไหน ก็ไม่พ้น โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวมทั้งหมด ๑๒ ดวงค่ะ ขณะนี้ที่เห็นเป็นวิบาก หลังจากเห็นแล้วชอบหรือไม่ชอบก็เป็นกิเลสถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปัญญาขั้นการอบรมค่ะ