คนที่ท่องจำพระไตรปิฎกได้มากจัดว่าเป็นพหูสูตได้ไหม
คนที่ท่องจำพระไตรปิฎกได้มากจัดว่าเป็นพหูสูตได้ไหม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พหูสูต หมายถึง บุคคลผู้สดับตรับฟังพระธรรม มาก และประการที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงฟัง หรือ ทรงจำ เท่านั้น แต่ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วย ดังนั้น จึงสำคัญที่ความเข้าใจ แม้ว่าจะฟังน้อย แต่มีความเข้าใจถูก แทงตลอดในความเป็นจริงของธรรม เพราะอาศัยพระธรรมที่ได้ฟัง ก็เป็นพหูสูต
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยาก แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจ มีความจริงใจ มีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจจริงๆ ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม เป็นผู้ตรง และจริงใจ จึงจะได้สาระจากพระธรรม เหตุที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น ต้องได้ฟังธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของพระธรรม เมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรม ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาย่อมเจริญขึ้น เป็นผู้ทรงจำพร้อมด้วยปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแต่จำ แต่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย และประการที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อเข้าใจธรรม ตามความเป็นจริง เท่านั้น
คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
ไม่ใช่การจำได้มากๆ โดยไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร จะสั้นสักเพียงไรก็ตาม ขอให้เข้าใจในอรรถนั้นจริงๆ ให้เป็นผู้ รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทนั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องของโลภะ สติระลึกลักษณะของโลภะ ทรงแสดงเรื่องของโทสะ สติระลึกลักษณะของโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงเป็นพหูสูต
แต่ถ้าโลภมูลจิตมีกี่ดวง ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร และไม่ระลึกลักษณะของโลภมูลจิต ขณะนั้นก็ไม่สามารถเข้าใจในสภาพที่เป็นเพียงจิต แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ถ้าโดยนัยนั้น จะรู้มากเท่าไรก็ไม่ใช่พหูสูต เพราะไม่รู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ สามารถพิสูจน์ได้ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดโดยระลึกรู้ตามความเป็นจริงตามที่ทรงแสดง สามารถรู้ทั่วถึงในความหมายในอรรถของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นพหูสูต
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
พหูสูตคืออย่างไร
บุคคลใดเป็นพหูสูต
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...