อธิษฐาน

 
chatchai.k
วันที่  24 ต.ค. 2566
หมายเลข  46846
อ่าน  257

คำว่า อธิฏฺฐาน เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจากคำว่า อธิ (มั่น) + ฐาน (ที่ตั้ง,ตั้ง) ซ้อน ฏฺ จึงรวมกันเป็น อธิฏฺฐาน (อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - ทิด - ถา - นะ) เขียนเป็นคำไทยได้ว่า อธิษฐาน (อ่านว่า อะ - ทิด - ถาน) แปลว่า ความตั้งใจมั่น ความมั่นคง ความตั้งมั่น


ที่มา ...

อธิษฐาน [คำที่ ๒๗]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ต.ค. 2566

อธิษฐานบารมี ความมั่นคงในการเจริญกุศล เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลาละคลายกิเลสนั้น บางท่านก็น้อยมาก จะเห็นได้ว่า ไม่มั่นคงพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดี ควรจะมีมากๆ ควรจะเจริญ ควรจะสะสม และควรมีความมั่นคงขึ้นด้วย แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ยากที่จะมั่นคง เพราะว่า ทุกคนมีอกุศลมากมายพร้อมที่จะทำให้กุศลรวนเร กลับกลอก ไม่มั่นคง เพราะว่าจิตใจเปลี่ยนแปลง เกิดดับรวดเร็ว ถ้าอกุศลน้อยลง ความมั่นคงของอธิษฐานบารมี ก็จะมากขึ้น

และสำหรับอธิษฐานบารมีนั้น ควรรู้ให้ละเอียดขึ้น แทนที่จะรู้กว้างๆ ว่า ควรที่จะมีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล แต่กุศลอะไร มั่นคงในอะไร มิฉะนั้นแล้วก็ยังผิวเผิน ยังไม่ทราบว่า จะมั่นคงตรงไหนดี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงอธิษฐานธรรม ๔ อย่าง คือ

สัจจาธิษฐาน ๑ จาคาธิษฐาน ๑ อุปสมาธิษฐาน ๑ ปัญญาธิษฐาน ๑

ซึ่งอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ นี้ รวมบารมีอื่นๆ ไว้ทั้งหมด คือ

อธิษฐานธรรมที่ ๑ สัจจาธิษฐาน

เป็นความจริง ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริง ซึ่งทุกท่านพิสูจน์สำรวจตัวเองได้ว่า ท่านเป็นที่ผู้มั่นคงในความจริงแค่ไหน เป็นผู้ที่ซื่อตรงและมั่นคงต่อ ความจริงและความตรงมากหรือน้อย เพราะบางท่านอาจจะรู้ตัวเองเลยว่า ไม่ค่อยจะมั่นคงนักในเรื่องของสัจจะ ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเห็นโทษของกายวาจา ที่ไม่จริง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่ผิดพลาดไปจากความจริง ขณะนั้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เป็นเด็กเล็กๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนทำตามที่พูดจริงๆ เมื่อพูดแล้วก็ทำ และเมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งเป็นผู้รังเกียจโวหารคือคำพูดที่ไม่เป็นอริยะ คือ คำพูดที่ไม่จริง

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เวลาที่มีอันตรายถึงชีวิต ก็คงรักษาไว้ คือ รักษาคำพูดที่ไม่ผิดความจริงโดยประการทั้งปวง

นี่คือสัจจาธิษฐาน ซึ่งถ้าจะรู้ว่า จะมั่นคงในกุศลธรรมอะไรบ้างที่จะทำให้ถึง ฝั่ง คือ พระนิพพาน ก็จะขาดสัจจาธิษฐาน ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริงไม่ได้

อธิษฐานธรรมที่ ๒ จาคาธิษฐาน

การสละกิเลส ซึ่งไม่ใช่เพียงสละวัตถุเป็นทานเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นประโยชน์บุคคลอื่น แต่นี่เป็นจาคะ เป็นการสละ เป็นประโยชน์ตน เพราะว่าเมื่อสละวัตถุเพื่อบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาถึงกายวาจาของตน ซึ่งควรจะเป็นกุศลด้วย มิฉะนั้นก็เพียงแต่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้พิจารณาที่จะสละกิเลสของตนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง

สำหรับทานบารมี ก็คงไม่มีกันทุกวัน ซึ่งทำให้บางท่านวิตกกังวลและก็คิดเรื่องทานบารมีว่า เมื่อไม่มีทานบารมีทุกวัน ก็ควรจะมีทุกวัน หรือว่าอย่างไร

ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่โอกาส เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ควรจะให้ ก็ให้ เพื่อให้เป็นอุปนิสัย แต่ไม่ใช่ไปกังวลเรื่องอยากจะมีทานกุศลทุกๆ วัน

และสำหรับในเรื่องของจาคะ การสละกิเลส ควรพิจารณาแม้ในเรื่องการให้ คือ ไม่ให้เพื่อหวังผลตอบแทน เพราะว่าบารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ มีโลภะเป็นข้าศึก ถ้ามีโลภะ มีความผูกพัน หรือมีการหวังผลใดๆ ตอบแทน ขณะนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญบารมี

เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เมื่อให้ควรจะให้อย่างไรที่จะเป็นการขัดเกลากิเลส คือ เป็นจาคาธิษฐานด้วย นอกจากจะไม่หวังผลตอบแทนแล้ว ก็ควรจะ ไม่ให้ด้วยความเบื่อหน่าย เพราะบางคนให้จริง แต่สังเกตพิจารณาชีวิตประจำวันที่ให้ บางกาลก็ให้ด้วยความเบื่อหน่าย ไม่ใช่ให้ด้วยความเบิกบานใจ หรือไม่ใช่ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อหรือมีความสนใจที่จะให้ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะต้อง ขัดเกลากิเลส หรือเมื่อเห็นคนอื่นให้ก็พอใจ มีความเบิกบานปีติในการให้ของ คนอื่นด้วย และให้อภัยแก่คนอื่นในฐานะที่ไม่ควรจะเป็นโทษภัยกับบุคคลนั้น

แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการให้ไม่ควรจะคิดแต่เฉพาะเรื่องของวัตถุ แต่ควรจะพิจารณาให้ละเอียดว่า เมื่อเป็นผู้ให้ทานวัตถุแล้ว ก็ควรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ ในขณะที่ให้ ให้ด้วยความอนุเคราะห์ และไม่เบียดเบียนด้วย

นี่เป็นเรื่องของการสละกิเลสในขณะที่ให้ทาน บางคนให้ แต่ให้อย่างไม่สุขนัก ก็จะได้มีความรู้สึกตัวว่า ควรจะให้ด้วยความสุขหรือเบิกบาน ดีกว่าให้ด้วยความ ไม่สุขนัก เพราะเมื่อจะให้ ก็ให้ด้วยความสุขดีกว่า ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้ขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วย

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ