การถวายสังฆทาน พระรูปเดียวจะเป็นสังฆทานไหม

 
chatchai.k
วันที่  7 พ.ย. 2566
หมายเลข  46926
อ่าน  413

ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เข้าใจว่าสังฆทานนั้น หมายความถึงถวายแก่สงฆ์จำนวนหลายรูป เพราะฉะนั้น รูปเดียวจะเป็นสังฆทานไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 7 พ.ย. 2566

สุ. ข้อความใน ปปัญจสูทนี อธิบายว่า คำว่า ภิกษุสงฆ์ ไม่กำหนดจำนวน

ในพระไตรปิฎก แม้แต่เพียงภิกษุรูปเดียว ถ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็เป็นการถวายแก่สงฆ์ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงปาฏิบุคคลิกทาน จะเป็นรูปเดียวหรือหลายๆ รูปก็ตาม ก็เป็นการเจาะจงทั้งสิ้น แต่เมื่อไม่มีการเจาะจงว่า จะต้องเป็นภิกษุรูปนั้นหรือรูปนี้ มีจิตมุ่งตรงต่อการถวายแก่สงฆ์ เพราะฉะนั้น คำว่า ภิกษุสงฆ์ ไม่กำหนดจำนวน

ท่านผู้ฟังมีโอกาสถวายสังฆทานกันบ้างหรือเปล่า อย่างการใส่บาตรตอนเช้า เวลาที่พระท่านบิณฑบาต จะเป็นสังฆทานหรือไม่ ยังมีข้อปลีกย่อยอีกต่อไปด้วย แต่ถ้าไม่ทราบความมุ่งหมายของคำว่า “สังฆทาน” แม้ขณะนั้นไม่เป็นสังฆทานก็ได้ ด้วยเหตุนี้ การที่ท่านผู้ใดได้ถวายอาหารบิณฑบาตเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบเลยว่า การถวายอาหารบิณฑบาตของท่านนั้นเป็นสังฆทานหรือไม่ใช่สังฆทาน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันที่คอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น

ดูกร อานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิบุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ โดยปริยายไรๆ เลย

ทรงแสดงไว้ว่า การถวายทานแก่สงฆ์มีผลมากกว่าปาฏิบุคคลิกทาน ถึงแม้ว่าในกาลอนาคตจะมีแต่ภิกษุโคตรภู สำหรับผู้ที่เป็นภิกษุโคตรภูนั้น ก็เป็นผู้ที่มีผ้ากาสาวะพันที่คอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก

ที่ว่าเป็น โคตรภูภิกขุ เพราะเหตุว่าเพียงแต่มีชื่อว่าเป็นสมณะเท่านั้น เหลือแต่ชื่อ คือ โคตรเท่านั้นเองว่าเป็นภิกษุ แต่ความจริงเป็นผู้ที่ทุศีล มีครอบครัว ประกอบการงานอาชีพได้ และเครื่องหมายที่ยังเหลืออยู่ ที่แสดงว่า ชื่อว่าเป็นภิกษุนั้น ก็โดยที่มีเพียงผ้ากาสาวะพันคอ

สำหรับผ้ากาสาวะนั้น ก็เป็นผ้าย้อมน้ำฝาด ซึ่งสีก็แล้วแต่น้ำที่ย้อมว่ามาจากพืชชนิดใด สำหรับการย้อมน้ำฝาดนั้นก็มีประโยชน์ คือ รักษาเนื้อผ้าให้ทนและกำจัดกลิ่นด้วย ได้ทราบว่าสำหรับพระภิกษุในประเทศไทยนั้นนิยมใช้แก่นขนุน ซึ่งก็คงจะเป็นในสมัยก่อน

เพราะฉะนั้น ข้อความสำคัญอยู่ที่ว่า ถึงแม้ว่าในอนาคตกาลจักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภูซึ่งเป็นผู้ที่ทุศีล มีธรรมลามก แต่คนทั้งหลายก็จักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่เราไม่กล่าวปาฏิบุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ โดยปริยายไรๆ เลย

พอที่จะทราบความต่างกันไหมสำหรับจิตใจของท่านเองว่า เป็นปาฏิบุคคลิกทาน หรือว่าเป็นทักษิณาในสงฆ์ เป็นสังฆทาน

ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น สังฆทานก็คล้ายๆ กับพิธีกรรมที่จะต้องประกอบให้ถูกต้อง มีสิ่งที่จะเป็นไทยธรรม ต้องอยู่ในลักษณะนั้นลักษณะนี้ และต้องกล่าวคำถวายสังฆทานด้วย ถ้าขาดไปสักสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เป็นสังฆทาน

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า สังฆทาน ให้ถูกต้อง ลืมเรื่องเก่าที่เคยเข้าใจผิด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ขณะที่กำลังถวายนี้จิตมุ่งอะไร ถ้ามุ่งถวายบูชาแด่พระอริยสงฆ์ จึงจะเป็นสังฆทาน

ข้อความในอรรถกถามีอธิบายว่า

ทักษิณาในสงฆ์จะมีได้ ก็ด้วยความยำเกรงในสงฆ์ การยำเกรงในสงฆ์นั้นทำได้ยาก

ปปัญจสูทนี มีข้อความว่า

ผู้ใดมอบไทยทานไว้ว่า ข้าพเจ้าถวายทักษิณาที่วางไว้ในสงฆ์

หมายความว่า เป็นผู้ที่มีเจตนาที่จะถวายทักษิณาแด่สงฆ์ ไม่ใช่เจาะจงบุคคล แล้วก็ไปวัด กล่าวว่า ได้โปรดจัดพระเถระ เจาะจงสงฆ์สักหนึ่งรูป แต่กลับไปได้สามเฌร ก็เกิดความไม่พอใจว่า เราได้สามเฌร ทักษิณาของเขาก็ไม่ชื่อว่าเป็นไปในสงฆ์

ส่วนผู้ที่ได้พระเถระ แล้วโสมนัสว่า เราได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ไม่ชื่อว่าทักษิณาเป็นไปในสงฆ์

ส่วนผู้ใดจะได้สามเฌร หรือภิกษุหนุ่มหรือแก่ โง่หรือฉลาดก็ตามจากสงฆ์แล้ว ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย สามารถทำความยำเกรงในสงฆ์ ด้วยตั้งใจว่า เราถวายแก่สงฆ์ ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าเป็นไปในสงฆ์

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ความว่าเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นเจ้าของวิหาร ตั้งใจว่าจะถวายทักษิณาไปในสงฆ์ แล้วขอภิกษุรูปหนึ่ง เขาได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง ให้จัดที่นั่ง ปูอาสนะ ผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยธูป ของหอม ล้างเท้า ถวายไทยทาน ด้วยจิตเคารพในสงฆ์ เหมือนทำการต้อนรับพระผู้มีพระภาค หลังจากฉันแล้ว ภิกษุรูปนั้นไปที่ประตูบ้าน บอกว่าขอจอบสักเล่มเพื่อนำไปแต่งวัด อุบาสกก็ให้จอบไป เอาเท้าเขี่ยให้ไป

พวกชาวบ้านก็กล่าวว่า

ลาภสักการะที่ท่านกระทำแล้วแก่ภิกษุรูปนั้นแต่เช้าตรู่ ไม่ต้องนำมาพูดกันล่ะ บัดนี้ แม้แต่เพียงอุปจาระ ความประพฤติ มารยาทหน่อยหนึ่งก็ไม่มี

อุบาสกนั้นจึงกล่าวว่า

ก็นั่นน่ะ เป็นความยำเกรงแก่สงฆ์ ที่ไม่ใช่แก่ภิกษุรูปนี้ ก็ใครย่อมชำระทักษิณาแก่สงฆ์ที่มีผ้ากาสาวะพันคอให้บริสุทธิ์ได้

อรรถกถาอธิบายว่า

คำว่า ถวายทานอุทิศสงฆ์ ในผู้ทุศีลทั้งหลายนั้นไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ผู้ทุศีล เพราะเหตุว่า สงฆ์ชื่อว่าทุศีล ไม่มี เพราะเหตุว่าหมายความถึงพระอริยเจ้า ผู้ทุศีลนั้นเป็นเพียงอุบาสกเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้จะถวายทาน ก็จะถวายทานด้วยตั้งเจตนาว่า ถวายอุทิศสงฆ์ในบุคคลผู้ทุศีล

สมัยนี้ยังถวายอุทิศสงฆ์ได้ไหม ถ้าเข้าใจแล้วก็ได้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้ มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน

ดูกร อานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก

ทายก คือ ผู้ให้ ปฏิคาหก คือ ผู้รับ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร

ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

ท่านที่ให้ทานบริสุทธิ์ได้ใช่ไหม มีศีล หาทรัพย์มาโดยไม่ทุจริต และในขณะที่ให้ทานเจริญสติปัฏฐานได้ไหม เป็นผู้ที่มีศีลงาม มีธรรมงาม ไม่ควรหลงลืมสติ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก อย่างไร

ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แลทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

ฝ่ายปฏิคาหกเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แม้กำลังเดินบิณฑบาต แม้กำลังรับ บิณฑบาต หรือแม้กำลังฉันบิณฑบาต แต่ฝ่ายทายกเป็นผู้มีธรรมลามก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร

ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แลทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

ประการต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร

ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก

ดูกร อานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว

ไวยากรณภาษิต หมายความถึงภาษิตที่เป็นร้อยแก้ว ไม่ใช่คำประพันธ์ ไม่ใช่ร้อยกรอง

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Wisaka
วันที่ 7 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 9 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ