ตัณหา กับ วิสัตติกา ต่างกันอย่างไร
เราสงสัยว่า ตัณหา กับ วิสัตติกา ต่างกันอย่างไร
เนื่องจากใช้ชื่อต่างกันจึงขอสอบถาม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตัณหา เป็นความอยากความต้องการ มีจริงๆ มีอาการหลากหลาย ตามความเป็นไปของตัณหา จึงมีชื่อเรียกมากมายที่แสดงถึงอาการความเป็นไปของตัณหา คำว่า วิสัตติกา ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นไปของตัณหา โดยความหมายแล้ว วิสัตติกา แปลว่า ตัณหาซึ่งแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรมประเภทหนึ่งที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ตัณหา ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ และเป็นสภาพธรรมที่มีพิษ ด้วย เพราะเป็นอกุศลธรรม ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสะสมความติดข้องมากขึ้นๆ ก็สามารถทำทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ และในขณะที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะอกุศลของตนเอง ทำร้ายจิตของตนเอง
ข้อความใน [เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑
- หน้าที่ ๑๒ แสดงถึงความหมายของคำว่า วิสัตติกา ไว้ว่า
ตัณหา เรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด, ความกำหนัดกล้า,ความพอใจ, ความชอบใจ, ความเพลิดเพลิน, ความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความเพลิดเพลิน
เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา? เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา, เพราะอรรถว่า แผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา, ตัณหานั้น แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย)
ดังนั้น ตัณหา กับ วิสัตติกา ก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ก็คือ โลภเจตสิก นั่นเอง ครับ
... ยินดีในกุศลของคุณ teezaboo และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
ขอบคุณครับ
ขอสอบถามเพิ่ม แล้วอาการความเป็นไปทั้งหมดของตัณหามีอะไรบ้างหรอครับ เพราะต้องการเข้าใจในตัณหาทุกอาการให้ลึกซึ้ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
มีคำอุปมาว่า ลักษณะอาการของตัณหา ซึ่งเป็นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ขณะที่กำลังคิดอะไรก็ตาม อุปมาเหมือนกับความรักของพ่อ และความรู้สึก คือ เวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับความรักของแม่ แต่ว่าสำหรับตัณหาหรือความต้องการ ความพอใจในอารมณ์นั้นเหมือนกับความรักของพ่อ ซึ่งต้องการให้อะไรเกิดขึ้นเป็นไปตามที่หวังหรือตามที่รักลูก เมื่อมีความรัก ความต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็หวังและต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏที่จะให้เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ อยู่เรื่อยๆ
อย่างทางตาที่กำลังเห็น เมื่อมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว หวัง และต้องการอะไรจากรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่ใช่ความหวังและความต้องการ รูปารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจ
ที่มา ...
ลองคิดดู หวังที่จะได้อิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจทางตาทุกๆ วันหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นสังขารอันเป็นที่รัก หรือว่าสัตว์อันเป็นที่รัก ต้องการที่จะให้จักขุวิญญาณ หรือจิตที่เป็นโลภมูลจิตได้ประสบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาที่น่าพอใจทั้งหมด นี่คือ ความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ต้องการจะเห็นแต่สิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจเท่านั้น
อุปมาเหมือนความรักของพ่อซึ่งมีต่อลูก ที่หวังจะให้ลูกเจริญเติบโตได้ประสบกับสิ่งที่ดีงามทั้งหมด ฉันใด เวลาที่ตัณหามีความต้องการในรูปารมณ์ที่ปรากฏ ก็ต้องการแต่ที่จะให้ประสบกับอิฏฐารมณ์ทางตา และไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา ทั้งทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตัณหามีความหวัง มีความต้องการในอารมณ์ทั้งหมดที่จะให้เป็นอิฏฐารมณ์เท่านั้นที่จะปรากฏ
เพราะฉะนั้น ผลก็คือ ทุกยุค ทุกสมัย มีการสรรเสริญ มีการยกย่องบุคคลที่ประดิษฐ์อิฏฐารมณ์ต่างๆ ให้กับตัณหาหรือโลภมูลจิต ได้เสวย ได้ต้องการ ได้ยินดี ได้พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ใครทำอาหารอร่อย มีคนชมไหม ชมอะไร ชมที่สามารถประดิษฐ์รสารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ให้ได้ ให้ใคร ให้โลภมูลจิตมีความยินดีพอใจ
ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริง คือ โลภมูลจิตเป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพที่ยินดีที่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งถ้าสติไม่เกิด ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีใครรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง ยังไม่ต้องให้โลภมูลจิตนั้นดับหมดเป็นสมุจเฉท เพียงแต่ให้ปัญญารู้ชัดว่า สภาพของโลภมูลจิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือการอบรมเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญานั้น ไม่ใช่ ไปทำอย่างอื่น แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ที่มา ...