ทุกคำที่ได้ฟังจากพระสัมาสัมพุทธเจ้าควรประพฤติปฏิบัติตามทุกเรื่อง_สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ลัคเนา เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  26 พ.ย. 2566
หมายเลข  47016
อ่าน  317

ทุกคำที่ได้ฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควรประพฤติปฏิบัติตามทุกเรื่อง แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สุด ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร จะเอาเรื่องใหญ่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นไปได้อย่างไร? ถ้าไม่รู้ ว่า แม้เล็กๆ น้อยๆ เพิ่มขึ้นก็ใหญ่โตยากที่จะแก้ได้ และเล็กๆ น้อยๆ นี้มาตั้งแต่ไหนเกินแสนโกฏิกัปป์ แล้วจะให้หมดไปง่ายๆ คนนั้นไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะคิดว่าง่าย เป็นไปได้อย่างไร? ง่าย เพราะไม่เข้าใจความลึกซึ้ง.

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 298

๒. ปัญญาสูตร

[๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว แล้ว ๘ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาได้แล้ว.

เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามสอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอฟังธรรมนี้แล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย และความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา.. ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอย่อมปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรมเป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 26 พ.ย. 2566

ถ้ารู้ความลึกซึ้งเท่าไหร่ความเคารพยิ่งมาก ยิ่งละความหวัง เพราะเหตุว่า ต้องมีเหตุเดียวเท่านั้น คือความเข้าใจถูกต้องในพระธรรมที่กำลังมีในขณะนี้.

[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 127

ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ชัด รู้ชัดอะไร รู้ชัดอริยสัจทั้งหลายโดยนัย เป็นต้นว่า นี้ทุกข์ ดังนี้ ปัญญานั้นมีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่พลาดเป็นลักษณะ เหมือนการแทงตลอดของลูกธนูที่ยิงไปด้วยธนูของผู้มีฝีมือ มีการส่องสว่างซึ่งอารมณ์เป็นรส เหมือนดวงประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปัฏฐานเหมือนผู้ชี้แจงอย่างดีแก่ผู้ไปป่า ชื่อว่า ปัญญาพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในอวิชชา

อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดตามภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ดุจการแทงตลอดของลูกธนูของผู้ฉลาด มีความสว่างในอารมณ์เป็นรส ดุจประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปปัฏฐานดุจคนชำนาญป่าไปป่า ฉะนั้น

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเพิมได้ที่ ..

การศึกษาพระธรรม เพื่อรู้แล้วละ

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ปัญญารู้อะไร

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ