ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๑
~ ขณะที่กำลังฟังเรื่องความจริงของสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์และทรงแสดง เป็นการเริ่มปลูกฝังความเห็นถูก จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง
~ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการได้ฟังคำของพระองค์
~ ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้ว่าคนอื่นจะทำกรรมที่ไม่ดีกับเรา แต่เรามีกรรมดี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับกรรมไม่ดีที่คนอื่นกระทำกับเรา เพราะว่าใครทำกรรมอย่างใดก็ได้อย่างนั้น แล้วเราจะไปคิดที่จะพยาบาทเบียดเบียนเขาทำไม ในเมื่อรู้ว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แล้วความพยาบาทไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเก็บให้มีมากๆ เลย เพราะเหตุว่า เป็นทุกข์ในขณะที่เกิดขึ้นด้วย
~ โกรธง่ายหรือโกรธยาก? โกรธง่ายมากใช่ไหม? ทางตาเห็นนิดเดียวก็ไม่ถูกใจ โกรธแล้ว ทางหู พูดผิดหูไปนิดเดียว ก็โกรธแล้ว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่โกรธง่าย ซึ่งความโกรธนั้นไม่เป็นภัยแก่คนอื่น นอกจากตัวท่านผู้โกรธเอง
~ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม ปัญญาจะทำให้เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งชีวิตข้างหน้าให้เป็นไปตามความเข้าใจถูก
~ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าที่อกุศลยังมากมาย เพราะกุศลยังน้อย และยังน้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีการสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความเห็นถูก
~ ถ้าทำดีแล้วปลอดภัยแน่นอน ไม่มีสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนใจด้วยประการใดๆ เลยทั้งสิ้น
~ ถ้าเข้าใจมั่นคงในเรื่องของกรรมจริงๆ ก็จะรู้เลยว่า ไม่คิดที่จะทำอกุศลกรรม แต่จะเจริญกุศลกรรม (กรรมดี) ยิ่งขึ้น
~ เมื่อมีความไม่รู้แล้ว ก็มีกิเลสอื่นๆ มีทั้งความติดข้อง มีทั้งความโกรธ มีทั้งความสำคัญตน ทุกอย่างที่ไม่ดีทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะของคนพาล ก็เพราะมาจากความไม่รู้
~ ทุจริตมีมานานแล้ว หรือว่าพึ่งมามี? มีมานานแล้ว ถ้ามีความไม่รู้ ก็ยังคงมีทุจริต ไม่ว่ากาลสมัยไหน
~ ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ยึดมั่นในความเห็นที่ไม่ตรงกับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าก็ไม่ทิ้งหรือว่าทิ้งไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ไถ่ถอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือว่า ไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งรู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏและตามที่ได้ทรงแสดงไว้
~ การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ก็จะละคลายความไม่รู้ และก็ละคลายอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะนอกจากละชั่ว แล้วก็บำเพ็ญความดี และชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย
~ เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ ก็ลองคิดดูว่าเมื่อไหร่จะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ
~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ก็จะต้องถูกพัดไปด้วยอกุศล และเป็นผู้หนาด้วยอกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
~ ถ้าเรารู้กิจของปัญญา ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราก็จะอบรมเจริญปัญญา ให้ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด แล้วจะอ้อนวอนขอให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องอบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น
~ มีชีวิตอยู่อย่างประมาท ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ตายแล้ว เพราะผู้ที่ตายแล้ว ไม่สามารถเจริญกุศลได้ ไม่สามารถฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาได้
~ น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับความไม่ดีและควรกลัวด้วยความไม่ดี ไม่ได้นำผลที่ดีมาให้เลยทั้งสิ้น สิ่งที่ควรกลัว ไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรที่จะสะสม คือ ความชั่วทั้งหลาย อกุศลทั้งหลาย แล้วคิดอย่างนี้หรือเปล่าระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่?
~ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อใดๆ เรียกเลยก็ตาม เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น แต่ก็กำลังเห็นในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งหมด ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น โดยไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ
~ สำหรับชีวิตแต่ละชาติ จะเห็นได้ว่า ถ้าในทุกๆ ชาติที่เกิดมา มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ถ้ายังไม่ละคลายอกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วยความตั้งใจมั่น ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ก็ย่อมไม่ถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า กิเลสมากมายเหลือเกิน
~ ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไร มีความเกเรมากมายอย่างไรก็ตาม เมื่อมีโอกาสได้สนใจในพระธรรมและฟังพระธรรม ย่อมเป็นที่หวังได้ว่าคนนั้นย่อมดีขึ้น จะน้อยหรือจะมาก แล้วแต่พื้นของจิตที่สะสมมา
~ ทางผิด (มิจฉามรรค) นำไปสู่ความเห็นผิดยิ่งๆ ขึ้นไป สำคัญว่าได้เข้าใจถูก สำคัญว่าได้หลุดพ้น แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
~ การไม่รู้ความจริงเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ หนาแน่นมากมาย แต่ความเริ่มเข้าใจเพียงเล็กน้อยไม่เท่ากับการสะสมของความไม่รู้ ต้องอาศัยความเข้าใจสิ่งที่มีจากการได้ฟังพระธรรมจนกว่าจะมีปัญญามากกว่านี้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมทุกประการเป็นเวลา ๔๕ พรรษา เพื่อให้คนได้เข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้ เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระธรรม คนที่ได้สะสมบารมีมาแล้วสามารถที่จะรู้ความจริงได้เป็นจำนวนมาก
~ ฟังพระธรรมทุกคำเพื่อรู้ความจริงแต่ละหนึ่งว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้ความจริงของธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งรวมกันแล้วปรากฏเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้น ก็จะไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง
~ การสนทนาธรรมเป็นเรื่องสบายๆ จากการที่ไม่รู้เลย ได้ยินคำอะไรก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด ว่า จริงหรือเปล่า?
~ ทุกข์กายที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนสภาพของทุกข์กายนั้นให้เป็นสุขทางกายได้ และสำหรับทุกข์กายในภูมิมนุษย์ที่ว่ามาก สำหรับท่านที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นโรคภัยอย่างร้ายแรง ถ้าเปรียบเทียบทุกข์กายนั้นกับในนรกหรือเปรต ก็ย่อมจะเทียบกันไม่ได้เลย เพราะว่าทุกข์ในทุคติภูมินั้นต้องมีมากกว่าทุกข์กายในสุคติภูมิ
~ สิ่งที่เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย เป็นใครหรือเป็นของใครหรือเป็นอะไรได้ไหม? นี่เป็นความหมายของคำว่า อนัตตา
~ สิ่งที่เกิดเกิดแล้วดับไปไม่เหลือเลย เป็นสุญญตา (ว่างเปล่า) เหลือนิดเดียวได้ไหม? (ไม่ได้) นี่คือ ความมั่นคงในการเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา กล่าวถึงทุกอย่างที่มีจริงโดยละเอียดอย่างยิ่ง โดยประการทั้งปวง เพื่อให้มีความเข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น
~ การฟังพระธรรม มีคุณค่า มีประโยชน์ที่สามารถที่จะทำให้ออกจากกรงของกิเลสและความไม่รู้
~ เพราะไม่รู้จึงมีกิเลสและมีอกุศลมากมาย ไม่สามารถที่จะพิจารณารู้ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
~ มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ก็ฟังไปเถิด สะสมเป็นอุปนิสัยในการฟังพระธรรมต่อไป
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๐
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ