เราเห็นหรือเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

 
เมตตา
วันที่  8 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47050
อ่าน  396

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 289

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นตน ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ในเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่.

ท่านอาจารย์: ดีก็เป็นธรรม ชั่วก็เป็นธรรม ถ้ารู้ว่า ดีก็เป็นธรรมชั่วก็เป็นธรรมเป็นประโยชน์ในชีวิตไหมที่จะรู้โทษของความชั่ว ถ้ารู้ว่าธรรมดีจะทำชั่วไหม?

ชาวอินเดีย: ถ้ารู้ว่าธรรมดีก็ทำดี

ท่านอาจารย์: แต่เพราะทำชั่วในขณะที่ทำ ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรมที่มีโทษ เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันไหม?

ชาวอินเดีย: เป็นครับ

ท่านอาจารย์: แล้วเราสามารถที่จะรู้จักธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม? การรู้ถูกเข้าใจถูกตามความเป็นจริงเดี๋ยวนี้มีประโยชน์ไหม?

ชาวอินเดีย: มีครับ

ท่านอาจารย์: จะรู้ได้อย่างไร?

ชาวอินเดีย: รู้ได้ต่อเมื่อเราทำความดี

ท่านอาจารย์: แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าดีถ้าเราไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนรู้จักชัดเจนว่า อะไรดีอะไรไม่ดี

ชาวอินเดีย: เป็นจริงตามนั้น ถ้าไม่รู้ความจริงก็ไม่สามารถรู้ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เริ่มคิด กำลังเห็น เราเห็นหรือเห็นเป็นธรรมไม่ใช่เรา

ชาวอินเดีย: เห็นเป็นธรรม

ท่านอาจารย์: ถ้ารู้ว่าเห็นเป็นธรรม เห็นไม่ใช่เรา เท่านั้นพอไหม?

ชาวอินเดีย: เท่านี้ไม่พอ

ท่านอาจารย์: ต้องรู้มากกว่านี้ใช่ไหม?

ชาวอินเดีย: ครับ

ท่านอาจารย์: คิดเองได้ไหม?

ชาวอินเดีย: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มฟัง ตั้งแต่เกิดมีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และคิดนึก นอกจากนี้มีอะไรอีกไหม?

เพราะฉะนั้น ต้องฟังธรรมจนกว่าเข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งละเอียดขึ้น เป็นการ รอบรู้ ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปริยัติ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 190

๑๐. อุปัสสุติสูตร

ว่าด้วยปริยัติธรรมเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์

[๑๖๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยืนแอบฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นแล้ว ตรัสถามเธอว่า ดูก่อนภิกษุ เธอได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วหรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ได้ฟังแล้ว พระเจ้าข้า.


๒. จุลลนันทิยาชาดก

ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว

[๒๙๓] ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำตัวท่านให้เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้น เป็นถ้อยคำของท่านอาจารย์

[๒๙๔] บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 165
๕. สัมปชานมุสาวาทสูตร ว่าด้วยสัมปชานมุสาวาท

[๒๐๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เรากล่าวว่าบาปกรรมไรๆ อันเขาจะไม่พึงทำไม่มีเลย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือสัมปชานมุสาวาท.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า บาปกรรม ที่สัตว์ผู้เป็นคนมักพูดเท็จ ล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ข้ามโลกหน้าเสีย แล้ว จะไม่พึงทำ ไม่มีเลย. เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.

จบ สัมปชานมุสาวาทสูตรที่ ๕

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

กล้าทำดี ไม่กล้าทำชั่ว

เป็นโทษทันทีที่ทำชั่ว

จากปริยัติถึงปฏิบัติ

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

รอบรู้คืออย่างไร

รอบรู้ในแต่ละคำ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 10 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ