ดีที่สุด คือเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

 
เมตตา
วันที่  10 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47057
อ่าน  353

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๗๘ - ๑๘๐
เรื่องปฐมโพธิกาล

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยสามารถเบิกบานพระหฤทัย ในสมัยอื่น พระอานนท์เถระทูลถาม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า"อเนกชาติสสาร" เป็นต้น. ทรงกำจัดมารแล้วทรงเปล่งพระอุทาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคตทรงกำจัดมารและพลแห่งมารแล้ว ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดปุพเพนิวาสญาณ, ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว, ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงหยั่งพระญาณลงในปัจจยาการแล้วทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น ด้วยสามารถแห่งอนุโลมและปฏิโลม. ในเวลาอรุณขึ้นทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมด้วยอัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ไม่ทรงละแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า "เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์, แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่าน แล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"


[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 103

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขาร ทั้งปวงเป็นทุกข์' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"


ชาวอินเดีย: ถ้ามีเหตุปัจจัยหลังจากจุติจิต ก็ต้องเกิดใหม่จะเกิดเป็นอะไรที่ไหนไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ พระพุทธองค์พูดถึงเรื่องนี้ว่า ตราบใดที่ยังมี ความติดข้อง อยู่ อย่างไรๆ ก็ไม่สิ้นสุดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังสารวัฏฏ์

ท่านอาจารย์: เพราะยังไม่ถึงการรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดแล้วดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างมั่นคง ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครอยากยากไร้ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องมี เมื่อมีเหตุที่จะให้เกิดต้องเกิด

ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ถ้ามีความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ถูกต้อง ว่า เป็นธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจ ว่า สิ่งใดดี และก็มีปัจจัยที่จะทำให้ดีขึ้น เกิดมาแล้วควรเป็นคนดีไหม?

ชาวอินเดีย: ควรเป็น

ท่านอาจารย์: ทุกคนอยากให้คนอื่นเป็นคนดี แล้วตัวเองควรจะเป็นคนดีด้วยหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เข้าใจว่าถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง ถ้าจะให้คนอื่นดีเราต้องเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ไปคิดถึงคนอื่น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คืออะไร?

ชาวอินเดีย: ต้องคิดดี

ท่านอาจารย์: ดีที่สุด คือเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ใช่ไหม?

ชาวอินเดีย: ครับ

ท่านอาจารย์: เริ่มจาก คิดดี คืออะไร ต้องทั้งหมดคืออะไร คืออะไรๆ จึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

ชาวอินเดีย: ครับ

ท่านอาจารย์: ขอกล่าวถึงความลึกซึ้งของสิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิจประจำวัน ขอถามว่า มาที่นี่เพื่อฟัง ไตร่ตรอง ไม่ใช่เชื่อ แต่เข้าใจว่า อะไรถูก อะไรจริงใช่ไหม?

ชาวอินเดีย: เข้าใจสำคัญ อย่างในชีวิตประจำวันต้องเข้าใจ ก็คือเข้าใจทุกอย่าง

ท่านอาจารย์: ความลึกซึ้ง คือแม้ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจใช่ไหม?

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 298

๒. ปัญญาสูตร

[๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว แล้ว ๘ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาได้แล้ว.

เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามสอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอฟังธรรมนี้แล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย และความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา.. ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอย่อมปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรมเป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. ฯลฯ


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 461
คือ ปัญญา ชื่อว่า ญาณ ปัญญานั้น ย่อมกระทำสัจจธรรม ๔​ ซึ่งเป็นผลและเป็นผล ซึ่งเป็นเหตุและเป็นเหตุ ที่รู้แล้วให้ปรากฏ แต่อวิชชานี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ให้เพื่ออันกระทำสัจจธรรม ๔ นั้น ให้รู้ ให้ปรากฏเพราะฉะนั้น​ จึงชื่อว่า อัญญาณ (ความไม่รู้) เพราะเป็นข้าศึกต่อญาณ. ปัญญา ชื่อว่า ทัสสนะ (ความเห็น) ก็มี ปัญญาแม้นั้นย่อมเห็นซึ่งอาการแห่งสัจจธรรม ๔ ตามที่กล่าวนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อเห็นสัจจธรรม ๔ นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อทัสสนะ. ปัญญา ชื่อว่า อภิสมัย (ความตรัสรู้) ก็มี ปัญญานั้น ย่อมตรัสรู้อาการแห่งสัจจธรรม ๔ ตามที่กล่าวนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อตรัสรู้อริยสัจจะ ๔ นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนภิสมัย.


ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

เรือน และ นายช่างผู้สร้างเรือน เป็นธรรม

ปัญญากล้ากล่าวความจริง

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ฟังแล้วไตร่ตรองไม่ต้องจำชื่อ

พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อตาม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ