ความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร

 
เมตตา
วันที่  23 ม.ค. 2567
หมายเลข  47303
อ่าน  358

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 459
ตติยปัณณสก์

อาสาวรรคที่ ๑สูตรที่ ๑

[๓๖๓] ๑๑๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหวัง ๒ อย่างนี้ละได้ยาก

๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความหวังในลาภ ๑ ความหวังในชีวิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหวัง ๒ อย่างนี้แลละได้ยาก.

อรรถกถาสูตรที่ ๑ บทว่า อาสา ได้แก่ ตัณหา ความอยาก. บทว่า ทุปฺปชหา ได้แก่ละได้ยาก คือนำออกได้ยาก. สัตว์ทั้งหลายใช้เวลา ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๖๐ ปีบ้าง รับใช้พระราชา ทำกสิกรรมเป็นต้น เข้าสู่สงครามที่ฝ่ายสองรบประชิดกัน ดำเนินอาชีพเลี้ยงแพะและทำหอก เป็นต้น แล่นเรือไปยังมหาสมุทร ด้วยหวังว่า พวกเราจักได้วันนี้ พวกเราจักได้พรุ่งนี้ดังนี้ เพราะความหวังในลาภเป็นเรื่องละได้ยาก แม้เมื่อถึงเวลาจะตาย ก็ยังสำคัญตนว่าจะอยู่ได้ ๑๐๐ ปี แม้จะเห็นกรรมและกรรมนิมิต เป็นต้น มีผู้หวังดีตักเตือนว่า จงให้ทาน จงทำการบูชาเถิด ก็ไม่เชื่อคำของใครๆ ด้วยหวังอย่างนี้ว่า เราจักยังไม่ตาย นี้เพราะความหวังในชีวิตเป็นเรื่องละได้ยาก.


[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 382

ข้อความบางตอนจาก

โรหิตตัสสสูตร

เรื่อง ผู้ที่ดับกิเลสแล้วย่อมไม่มีความหวัง (โลภะ) แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่ สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยังบรรลุ ถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ เหตุนั้นแล คนมีปัญญาดี รู้แจ้งโลกถึงที่สุดโลกได้ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกอื่น.


อ.คำปั่น: ฟังท่านอาจารย์เมื่อกี๊ซาบซึ้งมาก ได้ฟังได้เริ่มเข้าใจ คือจะไม่ไปทางผิดเป็นการละที่จะไปทางผิด แล้วก็เป็นการละซึ่งความหวังด้วย อันนี้ คือลึกซึ้งอย่างยิ่งเลยครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: นี่ค่ะ ปริยัติ การเข้าใจทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในความลึกซึ้ง และการเข้าใจนั่นเองในความลึกซึ้งนั้น ละความหวัง และความต้องการใดๆ เพียงแต่รู้ว่า ความเข้าใจนี้ยังไม่พอเลย เพราะว่าฟังแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้ง แต่ทรงแสดงความจริงให้รู้ว่า ความจริงนั้นเป็นอย่างไร และหนทางที่จะรู้ คือละ เห็นไหม ที่เรากำลังพูดถึง ละความหวัง ละความต้องการ เพราะเห็นความลึกซึ้ง นั่นจึงจะเป็นหนทางที่ลึกซึ้ง แล้วไม่มีใครไปทำด้วย เห็นไหม ความเข้าใจอย่างนี้แหละ เริ่มมั่นคงที่จะฟังให้เข้าใจในความลึกซึ้ง ตามลำดับว่า สามารถจะเข้าใจได้ตามลำดับอย่างไร ละเอียดมากน้อยแค่ไหน ลึกซึ้งแค่ไหนเกินกว่าที่จะหวัง

มิเช่นนั้น การฟังก็จะเหมือนเดิม ตัวเลข ตัวหนังสือ เรื่องราว แล้วความเข้าใจในความลึกซึ้งล่ะ?

อ.คำปั่น: ธรรมลึกซึ้งละเอียดครับ ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ ว่า ที่กล่าวถึงธรรม ก็คือสิ่งที่มีจริง ก็ต้องยกตัวอย่าง อย่าง เห็น อย่างนี้ครับ ความละเอียดลึกซึ้งของ เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมดาอย่างนี้ครับ แต่ว่ามีความละเอียดลึกซึ้งอย่างไรแม้ธรรมอย่างเดียว ก็คือ เห็น ครับ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร คิดเองไม่ได้เลย ตามคำของใครก็ไม่ได้ นอกจากได้ยินแล้วไตร่ตรองจนกระทั่งเข้าถึงความลึกซึ้งความละเอียดของ คำ นั้น เช่นคำว่า ธรรม หมายความว่าอะไร เห็นไหม จะพิจารณาแล้ว แต่ว่า ธรรมหมายความว่าอะไร?

อ.คำปั่น: หมายถึงสิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งความจริงอย่างนั้น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริง ความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร เห็นไหม ไม่ใช่ผ่านไปโดยตัวหนังสือ เป็นจิตเป็นเจตสิกเกิดร่วมกันอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เลย นั่นจำ แล้วก็ลืม ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และเริ่มรู้จากการฟังว่า สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่ยังไม่รู้เลยตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามลำดับ

อ.คำปั่น: ก็มีคำให้ไตร่ตรองจริงๆ ครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: เห็นไหม เพียงแค่ยังไม่ต้องไปไหนหรอก ให้เข้าใจในความลึกซึ้ง นั่นแหละ คือหนทางอริยสัจจธรรมที่ ๔ อะไรจะไปละความติดข้องความไม่รู้มากมายมหาศาลทุกวันในสังสารวัฏฏ์ จนถึงแม้วันนี้ ขณะนี้ ก็ยังคงไม่รู้ คิดดู ลึกซึ้งขนาดไหน ถ้าไม่ละไม่มีทางรู้ เห็นไหม แต่ไม่ใช่เป็นเราละ แต่เป็นความเข้าใจความลึกซึ้งเพิ่มขึ้นค่อยๆ ละความหวัง และความไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่า ทั้งๆ ที่มีจริงเป็นอย่างนั้น แต่กว่าจะรู้อย่างนั้นได้ ต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงที่จะละความเป็นเรา หรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

แค่นี้ค่ะ วันนี้เคยคิดบ้างไหม สิ่งที่กำลังมีเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง และกว่าจะถึงขณะนั้นได้ ถ้าไม่ฟังด้วยความมั่นคงเคารพในความจริงในความถูกต้อง ไม่มีทางที่จะแม้คิด พิสูจน์ได้ในวันหนึ่งๆ พอจบแล้วก็เรื่องอื่นแล้ว พอไม่พูดถึงก็เรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องอื่นแล้ว กว่าจะมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะแต่ละขณะเป็นอย่างที่เราได้ฟังเลย เห็นไหม แม้แต่ความเข้าใจขณะที่ฟังว่าเป็นอย่างนี้ แต่ชีวิตจริงๆ แต่ละขณะยังไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจเลย.

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๐๙ ดังนี้

ในบทว่า รูปํ เอตํ มม เป็นต้น การถือว่า นั่นของเรา เป็นตัณหาคาหะ (ยึดถือด้วยตัณหา) การถือว่า เรา เป็นนั่น เป็นมานคาหะ (ยึดถือด้วยมานะ) การถือว่า นั่นเป็นตัวของเรา เป็นทิฏฐิคาหะ (ยึดถือด้วยความเห็นผิด) เป็นอันตรัส ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ด้วยประการฉะนี้

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เพราะความเป็นเรา จึงมีคนอื่น

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

เป็นเราโดยตัณหา มานะและ ทิฏฐิ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 23 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ