ความลึกซึ้งของอริยสัจจะที่ ๔

 
เมตตา
วันที่  7 ก.พ. 2567
หมายเลข  47369
อ่าน  312

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 287

ทุกนิบาต

วรรคที่ ๒

๔. ปัญญาสูตร

ว่าด้วยขาดปัญญาพาให้เสื่อมมีปัญญาพาให้เจริญ

[๒๑๙] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่า เสื่อมสุด สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ในปัจจุบันทีเดียว เมื่อตายไปแล้วพึงหวังได้ทุคติ ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้น ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน ในปัจจุบันเทียวแล เมื่อตายไปพึงหวังได้สุคติ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

จงดูโลกพร้อมด้วยเทวโลก ผู้ตั้งมั่น ลงแล้วในนามรูป เพราะความเสื่อมไปจาก ปัญญา โลกพร้อมด้วยเทวโลกย่อมสำคัญ ว่า นามรูปนี้เป็นของจริง ปัญญาอันให้

ถึงความชำแรกกิเลสนี้แล ประเสริฐที่สุด ในโลก ด้วยว่าปัญญานั้นย่อมรู้ชัดโดยชอบ ซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติและภพเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้มีสติ มีปัญญาร่าเริง ผู้ทรงไว้ซึ่งสรีระอันมีในที่สุด.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบปัญญาสูตรที่ ๔


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 241

ทุกข์ มีการเบียดเบียน ปรุงแต่ง เผา แปรปรวน เป็นอรรถ สมุทัย มีการขวนขวายเป็นเหตุ พัวพัน ห่วงใยเป็นอรรถ นิโรธ เป็นเครื่องสลัดออก สงัดจากกิเลส ไม่ปรุงแต่งอมตะเป็นอรรถ มรรค นำออกไป เป็นเหตุ เป็นทัสสนะ เป็นอธิบดี เป็นอรรถดังนี้.


อ.คำปั่น: ละเอียดมากเลยครับท่านอาจารย์ ทุกครั้งที่ได้ฟังก็ได้สะสมความเข้าใจจริงๆ ครับ ก็เป็นชีวิตที่เป็นปกติจริงๆ ครับ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ว่าเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงก็ฟังก็สนทนา ทั้งหมดก็คือเป็นไปด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งหมดเลยครับท่านอาจารย์ ก็เป็นการดำเนินรอยตามผู้ที่เป็นพระสาวกทั้งหลายในอดีตจริงๆ ครับ ก็คือมีชีวิตที่เป็นปกติ และเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งก็ไม่ใช่อย่างอื่นเลย แต่ว่าได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: และเริ่มเข้าใจความลึกซึ้ง นั่นคือเริ่มรู้จักธรรมในความลึกซึ้งที่จะต้องรู้ว่า ขณะนี้ความเข้าใจระดับไหน

อ.คำปั่น: ก็เป็นการเริ่มต้นเริ่มสะสมความเข้าใจในขั้นการฟังครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: และสิ่งที่จะรู้นี่จบสิ้นไหม?

อ.คำปั่น: ไม่จบสิ้นเลยครับ

ท่านอาจารย์: เห็นไหมรู้ไหม ทุกขณะ เป็นสิ่งที่ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้จักธรรม

อ.คำปั่น: แต่ละคำที่ท่านอาจารย์กล่าวเตือนอย่างยิ่งเลยครับเป็นประโยชน์ที่สุดเลย

อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์สนทนากับผมมา แล้วก็อ.คำปั่นเมื่อวานนี้ปรารถว่า ทำไมความเป็นเราถึงได้เหนียวแน่นหนาแน่นมากมาย ท่านอาจารย์ก็ตอบว่า ก็เพราะไม่ได้สนใจว่าเป็นธรรม แล้วชาตินี้ขนาดชาตินี้ฟังอยู่ ท่านอาจารย์กล่าวคำให้ได้อาศัยสะสมบ่มอุปนิสัย ก็เพราะไม่ได้สนใจว่าเป็นธรรม แล้วชาตินี้ขนาดชาตินี้ฟังอยู่ท่านอาจารย์กล่าวคำอันมีคุณค่าอยู่ ให้ได้อาศัยสะสมบ่มอุปนิสัยที่จะเข้าใจความจริงเพิ่มขึ้น แต่การสะสมก่อนๆ ก็เป็นอย่างนี้ อาจจะหนักกว่านี้ถ้าไม่เจอพระธรรมก็ได้ ขนาดชาตินี้เจอพระธรรมยังดีที่ยังมีเชื้ออยู่บ้างที่สะสมความสนใจในความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เราน้อยไม่รู้จะน้อยขนาดไหน ท่านอาจารย์ยังให้ความเข้าใจในอริยสัจจ์ที่ ๔ ซึ่งที่จังหวัดอุอรวันแรก วันที่ ๑๒ ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงความลึกซึ้งของสัจจะทั้ง ๔ ถ้าไม่มีสัจจะที่ ๔ หนทาง คือความเข้าใจ ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ขอโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์อีกเพราะว่า ถ้าสัจจะที่ ๔ ไม่เริ่ม ไม่มีทางที่จะไปรู้อริยสัจจ์อื่นๆ เลย สิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏไปอย่างนั้น ปรากฏไปกับความไม่รู้ความติดข้อง ความเข้าใจผิด อะไรสารพัด

เพราะฉะนั้น สัจจะที่ ๔ ท่านอาจารย์ก็กล่าวมาตลอด สัจจะที่ ๔ ต้องรู้หนทางก่อน และที่จังหวัดอุดรท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า สัจจะที่ ๔ ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา คือความเข้าใจที่รู้ว่า ไม่มีเรา เป็นหนทาง ไม่ใช่ว่าจะไปทำละวาง ซึ่งชอบไปสอนให้ไปทำละวางกันเยอะมาก ความเข้าใจนั่นแหละ ละความติดข้อง และความไม่รู้ อันนี้ดูเหมือนฟัง พวกเราก็อาจฟังแล้วชิน จะชินชาหรือเปล่า ถ้าเราฟังจนชินชาไป แต่ไม่ได้คุ้นชินด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น แต่เป็นความชินชาไปว่า ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ดี เราก็ฟังไป แต่ไม่คุ้นชินที่ลึกลงไป ก็ฟังคำนี้อีกว่า หนทาง ก็คือความเข้าใจ คือความรู้ รู้ว่าไม่มีเรา ไม่ใช่จะไปทำละวาง แต่ความเข้าใจขณะนี้แหละกำลังเป็นหนทาง แล้วกำลังเป็นไปเพื่อการที่จะละความติดข้อง และความไม่รู้

กราบเท้าท่านอาจารย์ ความลึกซึ้งของอริยสัจจ์ที่ ๔ ก็ต้องมากทีเดียว แต่ถ้าไม่เห็นในความลึกซึ้ง คือไม่เข้าใจอริยสัจจ์ที่ ๔ ก็เป็นอันว่าไม่เข้าใจความจริงอะไรเลย ความจริงของสิ่งที่มีจริงก็มีอยู่ ก็เป็นความจริงของสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าใตรจะไม่รู้อะไร ก็เป็นอย่างนี้ แต่จะเป็นความจริงของสิ่งที่มีจริงที่รู้จนเป็นพระอริยะนี่ยากครับท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัจจะที่ ๔ ก็เลยเห็นเป็นความยาก ท่านอาจารย์จะได้กล่าวถึงว่า การที่จะเริ่มต้นของหนทาง การเริ่มต้นของหนทางที่เราก็ต้องขอคำอันเป็นประโยชน์แล้วๆ เล่าๆ การที่จะเป็นหนทางที่จะเริ่มหนทางคืออย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์: หนทาง ก็คือความเข้าใจความจริงว่า แม้กำลังมีก็ไม่รู้ความจริง แล้วจะมีทางไหนล่ะที่จะรู้ ไม่ฟังเลยหรือ? ทำอย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะรู้หรือ? แล้วทำอะไรในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดง คำ ที่เปลี่ยนไม่ได้เลย "ธรรม" สิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้แหละ เปลี่ยนไม่ได้ เห็นมี กำลังเห็น ได้ยินมีเมื่อกำลังได้ยิน แล้วจะไปเปลี่ยนอะไร แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะที่ ได้ยิน เป็นภาวะของธรรมที่ต้องเกิดขึ้นได้ยิน เป็นเราได้ยินไปเลย สบายมาก เดี๋ยวก็ได้ยินอีก เดี๋ยวก็ได้ฟังอีก เราทั้งนั้น แล้วอย่างนี้จะรู้ความลึกซึ้งไหม?

เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมความลึกซึ้งว่า แม้แต่ คำเดียว ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เข้าใจแค่ไหน? เช่นพระองค์ตรัสว่า ธรรม เข้าใจแค่ไหน? เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า? พอฟังจบบางคนถามว่า แล้วนี่เป็นธรรมหรือเปล่า? ไม่ได้ฟังว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม เพราะมีลักษณะให้รู้ว่า มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ไปคิดเอาเองว่ามีจริง แต่ เห็น กำลังเห็น เห็นถ้าไม่เกิดก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ความเป็นธรรมที่กำลังปรากฏโดยถี่ถ้วนโดยตลอด จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึงความจริงประจักษ์แจ้งเมื่อไหร่ ความเป็นเราที่สะสมมานานแสนนานจึงสามารถที่จะค่อยๆ รู้ความจริงนั้นเพิ่มขึ้นจนประจักษ์แจ้งในความจริงตามลำดับขั้น จนกระทั่งความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ และความเห็นผิดที่ยังคงเห็นผิดว่า ทันทีที่เห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จะไม่เหลือ มิเช่นนั้น ไม่เข้าใจความหมายของอริยสัจจธรรม


[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ [เล่มที่ 25] - หน้าที่ 412

เรื่อง การก้าวไปที่ประเสริฐ

คือ ก้าวไปสู่ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง

ข้อความบางตอนจาก

สุทัตตสูตร

อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรก

ครั้งนั้น ยักษ์ชื่อสีวกะไม่ปรากฏร่าง ได้ส่งเสียงให้ได้ยินว่า ช้างแสนหนึ่ง ม้าแสนหนึ่ง ฯลฯ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันจำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง แห่งการยกย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง ท่านจงก้าวหน้าไปเถิด คฤหบดีท่านจงก้าวหน้าไปเถิด คฤหบดี ไปการก้าวหน้าของท่านประเสริฐ การถอยหลังไม่ประเสริฐเลย

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ความเข้าใจพระธรรม นำมาซึ่งความเจริญทั้งปวง

สิ่งอื่นใดก็ไม่มีค่าเท่ากับความเข้าใจถูกเห็นถูก

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

อนาถบิณฑิกเศรษฐี

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ