เข้าใจเรื่องของธรรมไม่ใช่เข้าใจตัวธรรม

 
เมตตา
วันที่  9 ก.พ. 2567
หมายเลข  47378
อ่าน  439

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗

ประจักษ์แจ้ง

ปจฺจกฺข = ปฏิปจฺจ (เฉพาะหน้า) + อิกฺข (เห็น รู้)

เห็นเฉพาะหน้า รู้แจ้งเฉพาะหน้า หมายถึง ความสมบูรณ์ของปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ที่เห็นแจ้ง ประจักษ์สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ตามลำดับ สำหรับสติปัฏฐาน เป็นการอบรมปัญญาขั้นศึกษา ระลึกรู้สภาพธรรมเพื่อการประจักษ์แจ้ง


อ.ณภัทร: ดังนั้น แต่ละหนึ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า รู้ทั่ว นี่ก็หมายถึงความเข้าใจที่สะสมมากพอจนเป็นเหตุให้เข้าใจความจริงที่กำลังมีในขณะนั้น แม้สภาพธรรมที่จะเกิดดับด้วยความรวดเร็วก็ตามอย่างนั้นใช่ไหมครับ?

ท่านอาจารย์: เข้าใจเรื่อง ไม่ใช่เข้าใจตัวธรรมใช่ไหม?

อ.ณภัทร: ในเบื้องต้นการฟังก็เข้าใจเรื่องครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจเรื่องจึงรู้ถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจตัวธรรม แต่เข้าใจเรื่องของธรรม

อ.ณภัทร: ครับ

ท่านอาจารย์: ความรู้อย่างนี้จะทำให้รู้ว่า แล้วหนทางที่จะรู้ธรรมต้องมีแน่นอน เพราะว่า ธรรมกำลังปรากฏที่จะทำให้รู้ความจริงนั้นได้

เพราะฉะนั้น หนทางนั้นคืออะไร ไม่ใช่ฟังว่ามีจริง จบ แต่มีจริงต้องเป็นจริงอย่างที่เข้าใจ และหนทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะจริงๆ ที่เข้าใจนั้น ถ้าไม่รู้ว่าคืออย่างไร ก็ไม่มีทางจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น ทางที่จะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นคืออย่างไร?

อ.ณภัทร: ก็คือ สิ่งที่ได้ฟังมาทั้งหมด ก็คือรู้ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏครับ

ท่านอาจารย์: แล้วเพราะอะไรจะทำให้รู้แจ้ง?

อ.ณภัทร: ก็ต้องเป็นปัญญาครับ

ท่านอาจารย์: แล้วปัญญาสามารถที่จะเกิดตามใจชอบได้ไหม หรือว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สมควร ความรู้ความเข้าใจสิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

อ.ณภัทร: ก็ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ จนความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากการฟังเป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถระลึกได้ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การระลึกได้ อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาหรือเปล่า?

อ.ณภัทร: ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาครับ

ท่านอาจารย์: การระลึกได้มีจริงไหม?

อ.ณภัทร: มีจริงครับ

ท่านอาจารย์: แต่ว่า ความจริงของการระลึกได้ คืออะไร?

อ.ณภัทร: ความจริงของการระลึกได้ ก็คือขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏ สามารถที่จะรู้ในขณะนั้น ระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้แล้ว ระลึก ระลึกคืออะไร?

อ.ณภัทร: ระลึก คือไม่ลืมที่จะรู้ในสิ่งที่ปรากฏครับ

ท่านอาจารย์: มีจริงไหม?

อ.ณภัทร: มีจริงครับ

ท่านอาจารย์: เมื่อไหร่?

อ.ณภัทร: เมื่อขณะระลึกได้ เพราะบางครั้งก็ระลึกไม่ได้

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้กำลังระลึกได้หรือเปล่า?

อ.ณภัทร: ขณะนี้ยังไม่ได้ระลึกครับ

ท่านอาจารย์: กำลังฟังแล้ว คิดถึงคำที่ฟัง ในความหมายที่ถูกต้องหรือเปล่า?

อ.ณภัทร: กำลังเป็นอย่างนั้นครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้สนใจสิ่งอื่น แต่กำลังระลึกตรงเสียง ความหมายของเสียง แล้วก็เข้าใจใช่ไหม?

อ.ณภัทร: ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สภาพที่ระลึกเป็นเราหรือเปล่า เป็นความเข้าใจหรือเปล่า?

อ.ณภัทร: กราบเท้าท่านอาจารย์ ผมเห็นความละเอียดของท่านอาจารย์ตรงนี้มากเลยว่า ขณะที่ฟังนี่ครับ นั่นคือการระลึกแล้ว แต่ผมไม่สามารถจะรู้ว่าขณะนั้น คือการระลึกครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟังอย่างนี้จะรู้ไหม แม้ระลึกก็ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น นอกจากธรรมที่เกิดขึ้นระลึกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องฟังอีกมากเท่าไหร่ กว่าจะรู้ว่าขณะที่ฟังนี่มีการระลึกไหม แล้วระลึกขณะไหน ระดับไหน ระลึกแล้วเป็นอย่างไร เห็นไหม ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดเองเลย แต่ความจริงกำลังเป็นไปโดยไม่มีใครรู้ ถ้าไม่มีการฟังความจริงนั้นให้มีความเข้าใจถ่องแท้เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็กำลังเป็นหนทางใช่ไหม ที่จะรู้ความจริง เพราะฉะนั้น หนทางเป็นหนทางที่ลึกซึ้งอย่างยื่ง ที่เข้าใจจริงๆ โดยละเอียดจริงๆ ในความเป็นธรรมนั้นเท่านั้น ที่มีปัจจัยเกิดหลากหลายแล้วก็ดับ แต่ความรู้ความเข้าใจต้องเข้าใจแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน

อ.ณภัทร: กราบท่านอาจารย์ครับ ก็ค่อยๆ เข้าใจคำว่าแจ่มแจ้งครับ ที่สนทนากับท่านอาจารย์ที่อุดร ค่อยๆ เข้าใจว่า แจ่มแจ้งที่ท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจนี่ครับในเรื่องของการระลึกครับ

ท่านอาจารย์: เห็นไหมว่า ต้องไตร่ตรองนานเท่าไหร่ เพราะฟังมาแล้วเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ต้องเป็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งแม้ในขั้นการฟัง คือปริยัติ มิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมีปัจจัยไปถึงลักษณะจริงๆ เดี๋ยวนี้ได้

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เพราะยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของขันธ์

ความหมายของเข้าใจจริงๆ กับจำได้ ต่างกันอย่างไร

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

รู้เรื่องราวของธรรม แต่ยังมีความเห็นผิดได้

ฟังเรื่องราวของธรรม เพื่อ ..

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nui_sudto55
วันที่ 12 ก.พ. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ