เบิกบานเพราะเห็นความจริง

 
เมตตา
วันที่  22 ก.พ. 2567
หมายเลข  47449
อ่าน  306

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 161

๗๒ - ๗๓. อรรถกถาสัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณุทเทส ว่าด้วย สัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณ

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สพฺพญฺญุตญาณํ อนาวรณญาณํญาณเป็นเครื่องรู้ธรรมทั้งปวง ญาณอันไม่มีอะไรติดขัด นี้ ดังต่อไปนี้ พระพุทธะพระองค์ใด ทรงรู้ธรรมทั้งปวงมีประเภทแห่งคลองอันจะพึงแนะนำ ๕ ประการ ฉะนั้น พระพุทธะพระองค์นั้น ชื่อว่าสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวง, ความเป็นแห่งพระสัพพัญญู ชื่อว่าสัพพัญญุตา, ญาณ คือพระสัพพัญญุตาญาณนั้น ควรกล่าวว่า สัพพัญญุตาญาณ ท่านก็กล่าวเสียว่า สัพพัญญุตญาณ. จริงอยู่ ธรรมทั้งปวงต่างโดยเป็นสังขตธรรมเป็นต้น เป็นครรลองธรรมที่จะพึงแนะนำมี ๕ อย่างเท่านั้น คือ
สังขาร ๑, วิการ ๑, ลักขณะ ๑. นิพพาน ๑ และ บัญญัติ ๑. ฯลฯ
อะไรๆ อันพระตถาคตเจ้านั้นไม่เห็นแล้วไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง อะไรๆ ที่ไม่รู้แจ้งและไม่ควรรู้ ก็ไม่มี, สิ่งใดที่ควรแนะนำมีอยู่ พระตถาคตเจ้าได้รู้ธรรมทั้งหมดนั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น พระตถาคตเจ้าจึงชื่อว่า สมันตจักขุ. ฉะนั้น ญาตสัพพัญญุตาเท่านั้น ย่อมถูกต้อง. ก็เมื่อเป็นเช่นนี้สัพพัญญุตญาณนั่นแล ย่อมมีได้โดยกิจ โดยอสัมโมหะ โดยการสำเร็จแห่งเหตุ โดยเนื่องกับอาวัชชนะ ด้วยประการฉะนี้. อารมณ์เป็นเครื่องกั้นญาณนั้นไม่มี เป็นญาณที่เนื่องด้วยอาวัชชนะนั่นเอง ฉะนั้นญาณนั้นจึงชื่อว่า อนาวรณะ - ไม่มีการติดขัด, อนาวรณะ นั้นนั่นแหละท่านเรียกว่า อนาวรณญาณ ด้วยประการฉะนี้.


[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 187

ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร? เพราะอรรถว่า ไม่มีผู้อื่นเหมือน เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่า เสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภารนับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนบ้าง.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงมีคุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะอรรถว่า มีความพิเศษโดยคุณ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้พระองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูปกาย และพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเอก เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.


อ.อรรณพ: เพราะฉะนั้น ที่เราฟังข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถาว่า ใครที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีที่สุดครับ

อ.วิชัย: บุคคลที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดีที่สุด ก็ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดวยกันเองครับ ถึงจะรู้จักคุณโดยประการทั้งปวงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ อย่างอุปมาก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หรือความกว้างขวางของพระญาณ อย่างบางบุคคลสามารถรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกับนกที่บิน และก็จะมีความรู้สึกเฉพาะตรงที่ใต้ปีกของตนเองเมื่อเทียบกับอากาศที่กว้างขวางมหาศาลนี่ครับ เทียบกันไม่ได้เลยครับกับพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ แต่ก็มีประเด็นที่จะกราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ครับ ซึ่งเมื่อวานนี้ก็ได้มีโอกาสสนทนาเรื่องของ งาม คือปัญญาครับท่านอาจารย์ ดังนั้น การที่จะเป็นผู้สะสมในความละเอียด บางครั้งการกล่าวถึง สังฆโสภณ หรือสังฆโสภณะครับ ผู้ยังหมู่ให้งาม ก็ยังหมายถึงพุทธบริษัททั้งหลายที่เป็นผู้ที่เป็นพหูสูตรมีปัญญา ดังนั้น การที่จะศึกษาแล้วก็มีความเข้าใจที่จะเป็นพุทธบริษัทที่จะเป็นเหตุให้หมู่ของบริษัทให้งดงามครับท่านอาจารย์ จะมีความละเอียดลึกซึ้งอย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมตามลำดับ งามไหม ในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เป็นความจริงที่ประเสริฐที่ทำให้ผู้ที่ได้เข้าใจได้เบิกบานในความจริง ซึ่งถูกปกปิดไว้นานแสนนาน มิเช่นนั้น แล้วจะไปเบิกบานในอะไร?

อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ซึ่งความงามหมายถึงธรรมที่ดีงามโดยเฉพาะปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงครับ แต่ว่าในชีวิตประจำวันปกติก็มากไปด้วยอกุศลครับท่านอาจารย์ ซึ่งโดยสภาพก็รู้ว่า อกุศลเป็นสภาพที่ไม่งามเลยครับท่านอาจารย์ แต่ว่าปัญญาที่จะค่อยๆ เห็นโทษ เห็นความที่อกุศลทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นสิ่งที่ไม่งาม แต่ก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากอย่างยิ่งครับท่านอาจารย์ เหมือนกับคุ้นเคยเหมือนกับเสพคุ้นกับอกุศลจนไม่เห็นว่า อกุศลไม่งามครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ค่ะ เพราะเหตุว่า ธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่ง เห็นไหม ทุกคำถาม ทุกปัญหา จะส่อไปถึงความลึกซึ้งของธรรมอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ขณะนี้อะไรเป็นสิ่งงามทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย สัตว์โลกรู้ได้ใช่ไหม ชื่นชมยินดีในความงามของแต่ละธรรม แต่ว่าชื่นชมยินดีด้วยความไม่รู้ จึงเห็นสิ่งที่ไม่งามว่างาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นจริงๆ ว่างาม คืออะไร งามจริงๆ ใช่ไหม? ชื่นชมในความเป็นจริงของสิ่งนั้น ในความเข้าใจถูกต้อง ซึ่งถ้าไม่เข้าใจถูกต้อง ก็ชื่นชมในความงามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าถ้าชื่นชมในความจริงแท้ที่สุดของธรรม งามไม่มีอะไรเปรียบได้ เพราะจริงถึงที่สุด

เพราะฉะนั้น เป็นความงามที่ต่างกันใช่ไหม เบิกบานเมื่อเห็นสิ่งที่ดีงาม แต่ทางโลกเบิกบานเมื่อเห็นสิ่งที่ดีงามที่ทำให้ติดข้อง แต่เวลาที่เบิกบานได้เห็นความจริงที่งามสุดที่จะงามได้ เพราะเป็นความจริงที่มีทุกขณะที่ลึกซึ้ง ความเบิกบานจะแค่ไหน เพราะเห็นความจริง

อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ฟังแล้วก็เป็นสิ่งที่ปลื้มปีติอย่างมากที่ได้มีโอกาสได้ฟังคำนี้ครับ ก็ถ้าไม่มีโอกาสได้ศึกษาได้ฟังพระธรรมก็เป็นผู้ที่ยังหลงในสิ่งที่ไม่งามว่างามอยู่ครับ แต่ว่างามอย่างยิ่ง ก็คือปัญญาที่รู้ตามเป็นจริงสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ที่ไม่เที่ยงมีการเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในสภาวะนั้นไม่ได้เลยครับ มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัญญาที่รู้ความเป็นจริงอย่างนี้นะครับ งามจริงๆ ครับท่านอาจารย์ เมื่อเทียบกับความหลงไม่รู้ในความเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หลงติดข้องอยู่ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: แล้วก็ขณะนี้เองด้วยใช่ไหม ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย

อ.วิชัย: ใช่ครับท่านอาจารย์ จนกว่าจะมีโอกาสจะฟัง และสะสมปัญญาที่จะเป็นเหตุให้ธรรมที่ดีงามค่อยๆ เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นครับที่จะเป็นเหตุให้ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันงามขึ้นด้วยธรรมที่ดีงาม โดยเฉพาะปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงครับ

ท่านอาจารย์: พระคุณสูงสุดเห็นไหมสิ่งที่ลึกซึ้ง นี่ขั้นฟังค่ะ ความลึกซึ้งของธรรมสุดที่จะประมาณได้เพราะปกปิดให้ไม่รู้มาแสนนานในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ความลึกซึ้งจะแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย ไม่ใช่จะหมดไปโดยง่ายด้วยความไม่เห็นความลึกซึ้ง

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร

บุคคลผู้ทำหมู่ให้งาม ๔ จำพวก [สังฆโสภณสูตร]

พรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ความเป็นพหูสูต เป็นต้น [มงคลสูตร]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

เบิกบานด้วยปัญญา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 25 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตาและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ