คำว่า วัด ความจริงถึงที่สุดคืออะไร?

 
เมตตา
วันที่  6 มี.ค. 2567
หมายเลข  47582
อ่าน  616

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 231
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญทานบารมี ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิฏฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วนคือ บารมี ๑๐ เหล่านี้ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ เหล่านี้ คือ บริจาคอวัยวะ ๑ บริจาคตน ๑ บริจาคทรัพย์ ๑บริจาคภริยา ๑ บริจาคราชสมบัติ ๑ โดยทำนองเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสี เป็นต้น เสด็จมาอย่างใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ก็เสด็จมาอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต.


ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต้องฟัง คำ ของพระองค์ ไตร่ตรองจนเข้าใจความลึกซึ้ง จึงจะรู้จักความลึกซึ้งของการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังมีที่ลึกซึ้งที่สุดเป็นอริยสัจจะ เปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ไปติดอยู่เพียงแค่ความคิด แต่ต้องประจักษ์แจ้งความจริง

เพราะว่า ขณะนี้เพียงคำว่า วัด ความจริงถึงที่สุดคืออะไร? และไม่ใช่แต่เฉพาะวัดนะ บ้าน คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รถยนต์ ถนนหนทาง แม่น้ำ มหาสมุทร ความจริงคืออะไร? ถ้าไม่ได้ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไตร่ตรอง จะไม่สามารถรู้ถูกต้องจนถึงประจักษ์แจ้งความจริงตามที่พระองค์ได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้ว ทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียดอย่างยิ่งให้ไตร่ตรองจนกระทั่งเข้าใจความลึกซึ้งของ แต่ละคำ ซึ่งกำลังเป็นอย่างที่พระองค์ทรงแสดง

เพราะฉะนั้น จะไม่ฟัง คำ ของพระองค์แล้วจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร มีแต่ชื่อให้จำ ว่า ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกว่าจะเข้าใจ คำ ของพระองค์จนประจักษ์แจ้งความจริง จึงรู้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ไม่มีความเข้าใจสักนิดจะเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากการฟังคำของพระองค์ที่กล่าวถึง สิ่งที่มีจริง ให้รู้ว่า ความจริง เดี๋ยวนี้คืออะไร? ค่อยๆ รู้จักพระองค์ขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเข้าใจ คำ ของพระองค์ถูกต้อง เพราะเป็น คำจริง ทั้งหมดที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นจะไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนได้ประจักษ์แจ้งความจริงถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง ไม่มีใครที่จะเหนือพระปัญญาที่ได้ตรัสรู้ความจริงได้.

คุณสาคร (แมว) : ลึกซึ้งอย่างยิ่งค่ะ กราบท่านอาจารย์ค่ะว่า สิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวนี้เป็นสิ่งที่พิเศษสุดที่นำความยินดีอย่างยิ่งมาหาทุกขณะที่ได้ยินคำของท่านอาจารย์ ซึ่งไม่ว่าตั้งแต่ ๗๐ กว่าปีที่แล้ว หรืออาจจะก่อนนั้นด้วยที่ท่านอาจารย์มีแต่นำสิ่งที่ประเสริฐสุดมาให้กับพวกเรา ตลอดชีวิตท่านทุกก้าวย่าง คือเป็นที่ชัดเจนเหลือประมาณที่ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ ไม่ว่าต่อสาธารณะชน ณ ขณะนี้ หรือว่าข้างหลังท่านอาจารย์ที่จะกล่าวในกลุ่มย่อย หรือ ณ ทุกขณะจริงๆ ที่ท่านอาจารย์มีลมหายใจสำหรับเพื่อที่จะนำคำที่มีค่าที่สุดนี้มาถ่ายทอดให้กับพวกเรา คือเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดค่ะที่ได้มาพบสิ่งนี้ แล้วก็ทำให้เราได้ประจักษ์จริงๆ ค่ะว่า ความลึกซึ้งของพระธรรมนั้นช่างอีกมากมาย แล้วท่านอาจารย์มีความขันติทุกสิ่งทุกอย่างที่จะถ่ายทอดให้กับพวกเรา หาคำกล่าวไม่ได้เลยและพวกเราก็เห็นในความยิ่งเห็นในความไม่รู้ในความบรมโง่ของพวกเรา ยิ่งท่านอาจารย์กล่าวไปยิ่งมากเท่าไหร่ในความลึกซึ้งของพระธรรม ก็ยิ่งทำให้ซาบซึ้งว่า นี่คือพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่ใช่สิ่งง่ายๆ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราจะประมาท เพราะว่าท่านอาจารย์ย้ำตอด ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าในห้องเล็กๆ ในรถ ทุกขณะที่ก้าวย่าง คำของท่านอาจารย์ก็มีแต่กล่าวคำจริงเหล่านี้ให้พวกเราได้สำนึก ได้สำเนียก ได้ไตร่ตรองบ้าง แต่ก็รู้ว่ายังอีกไกลเหลือเกินกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ และพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์ที่ท่านได้ตรัสไว้ กราบแทบเท้าท่านขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงยิ่งค่ะที่ได้มอบสิ่งที่มีค่าเหล่านี้ให้กับพวกเราค่ะ แล้วก็คงอีกยาวนานที่พวกเราจะศึกษาต่อไปอย่างไม่หวังสิ่งใด

ท่านอาจารย์: เห็นไหม ความเข้าใจพระธรรม จึงรู้ว่า หนทางอื่นไม่มีที่จะรู้ความจริง นอกจากนำด้วยสัมมาทิฏฐิ มรรคแรกของมรรคมีองค์ ๘ หนทางลึกซึ้ง คือไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพราะเกิดแล้วทั้งหมดตามเหตุตามปัจจัย

เพราะฉะนั้น หนทาง คือการรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงตามลำดับ นี่คือความลึกซึ้งของหนทาง ถ้าทำอะไรผิดทันทีเพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เกิดแล้วใช่ไหม เพราะเหตุปัจจัยก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงมีการแสดงความลึกซึ้งอย่างยิ่งของ อริยสัจจธรรม ๔ รวมถึงอริยสัจจธรรมที่ ๔ สุดท้าย คือหนทางที่จะประจักษ์แจ้งความจริงตามลำดับ ตั้งแต่อริยสัจจะที่ ๑ ถ้าไม่มีหนทาง คือความเข้าใจเดี๋ยวนี้ อันนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งความจริงได้ หนทางไม่ใช่ใครไปทำไปบอกให้มีความเข้าใจอย่างนี้ ไปทำอย่างนั้น ให้ดูอย่างนี้ แต่จะนำไปสู่อะไรค่ะหนทางนี้ แต่หนทางที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งอย่างไร ลึกซึ้งที่จะเข้าใจถูกต้องว่า แม้ขณะนี้ที่เข้าใจ นั่นก็คือหนทางที่ลึกซึ้งที่นำไปสู่การละความไม่รู้ในความลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรมด้วยความเคารพสูงสุดในความจริง จึงรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ไม่ประมาทเลยในความลึกซึ้ง ลึกซึ้งกว่าที่ใครจะกล่าวได้เพราะเหตุว่า สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง แม้ประโยคนี้หรือทุกประโยค ก็ต้องไตร่ตรองให้เข้าใจว่า ถูกต้องอย่างไร เป็นคำที่พระองค์ตรัสไว้หรือเปล่า พระองค์ตรัสว่า อริยสัจจะลึกซึ้งทั้ง ๔ หรือเปล่า?

คุณสาคร (แมว) : ลึกซึ้งทั้ง ๔ ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าลึกซึ้งแล้วไปทำให้ง่าย จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? ต้องตรง สัจจบารมี ขณะนี้ก็กำลังเป็นบารมีเมื่อเข้าใจถูกต้อง ทั้งวิริยบารมี ขันติบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี ทุกอย่างหมด เมื่อเข้าใจถูกต้อง

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 429
๓. ขันธสูตร

ว่าด้วยอริยสัจ ๔

[๑๖๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

[๑๖๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ควรจะกล่าวได้ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ. [๑๖๘๐] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้ เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

[๑๖๘๑] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

[๑๖๘๒] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

[๑๖๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

จบขันธสูตรที่ ๓


ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ผู้ไม่ไตร่ตรองธรรมด้วยปัญญา [อลคัททูปมสูตร]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ฟังแล้วไตร่ตรองไม่ต้องจำชื่อ

วิธีที่จะเข้าใจอยู่ที่ตรึก ไตร่ตรองในเหตุผล ไม่ใช่ท่องจำ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ