วันเวลา และ ระยะทาง เป็นของเที่ยงหรือไม่ครับ

 
sukchit
วันที่  8 ก.ย. 2550
หมายเลข  4761
อ่าน  1,729

จากที่เคยได้ฟังพระธรรมของอาจารย์มา ที่กล่าวไว้ว่า "สังขารไม่เที่ยง" ตามความเข้าใจของกระผม คำว่า ไม่เที่ยง หมายถึง ของที่มีอยู่แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่จีรังยั่งยืน สลายไปตามกาลเวลา จากความเข้าใจนี้ กระผมจึงเกิดคำถาม ๓ ข้อ ดังนี้ครับ

๑. เราวัดความเที่ยงหรือไม่เที่ยง จาก กาลเวลา เป็นความเข้าใจที่ถูกหรือไม่ อย่างไรครับ

๒. ระยะทางเป็นของ จริง (เที่ยง) หรือไม่ครับ ขอยกตัวอย่างเช่น กระผมยืนอยู่ทางทิศเหนือของต้นไม้ใหญ่ ที่สามารถบดบังน้องชายของกระผม ที่ยืนอยู่ทางทิศใต้ได้ แต่หากกระผม เดินไปทางซ้าย หรือขวา จนสามารถมองเห็นน้องชายได้ ถ้าหากกระผม ยังคงยืนอยู่ที่เดิม แล้วมีใครมาถามว่า เห็นน้องชายของกระผมหรือไม่ ผมคงตอบว่า ไม่เห็น ด้วยการกล่าวมานี้ ระยะทางเป็นของเที่ยง หรือไม่อย่างไรครับ

๓. จากการยกตัวอย่างของข้อ ๒. ทำให้กระผม มีความคิดที่ว่า เวลาและระยะทางมีความสัมพันธ์กัน เพราะหากตัวกระผม เดินไปทางซ้ายหรือขวา จนสามารถมองเห็นน้องชายของกระผมแล้ว จะต้องใช้เวลาในการเดินทาง จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ความเข้าใจอย่างนี้ถูกหรือไม่อย่างไร ครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 8 ก.ย. 2550

๑. เมื่อกล่าวถึง สิ่งที่ไม่เที่ยง หมายถึง สิ่งที่มีจริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เปลี่ยนแปลง ไม่มีแล้วมี มีแล้วไม่มี มีกาล คือ เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน

. ระยะทาง กาล วัน สัปดาห์ เดือน ปี เวลา เป็นบัญญัติ เรื่องราว ที่จิตคิดขึ้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ย่อมไม่มีระยะทาง กาล เวลา

๓. ตามหลักบัญญัติ ทางโลกเป็นเช่นนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ย. 2550

ถ้าเราวัดกาลเวลา ที่ใช้ดูคน เช่น หนทางพิสูจน์แรงม้า กาลเวลาพิสูจน์ใจคน หรือจะวัดว่ารูปมี อายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่จริงๆ แล้ว กาลเวลาวัดไม่ได้หรอกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เช่น รูปที่ดับไปแล้วเป็นอดีตกาล ฯลฯ สภาพธรรมที่มีจริง จึงจะมีกาลเวลา สังขารทั้งหลายเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 8 ก.ย. 2550

ความจริงไม่ใช่เวลา น้องชาย และระยะทาง แต่เป็นจิตที่คิดนั่นแหละ ไม่เที่ยง จิตที่เห็น ไม่เที่ยง จิตได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ไม่เที่ยง เพราะขณะที่คิดถึงน้องชาย ก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น น้องชายไม่มี มีแต่ความคิดถึงสัณฐานว่า มีน้องชาย ขณะที่วาโยธาตุเกิดขึ้น เพราะจิตที่คิดเดิน ก็ไม่ได้คิดถึงน้องชาย แต่เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วมาก ดังนั้น จึงเข้าใจว่า มีน้องชายขณะที่เดิน แต่แท้จริง คิดเดินอย่างหนึ่ง เห็นสิ่งที่ปรากฎทางตาอย่างหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นน้องชายก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ละอย่างดับไป สิ่งใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่พร้อมกัน ความจริงเป็นอย่างนี้ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยปัญญาว่า ไม่มีเราเดิน ไม่มีน้องชาย มีเพียงสภาพธรรม ที่เกิดดับไปเท่านั้นเอง ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อ ๑ จริงๆ แล้ว เราไม่ได้วัดความเที่ยงและไม่เที่ยง จากกาลเวลา แต่เพราะความไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไปของจิต แต่ละขณะต่างหากจึงมีกาลเวลา เช่น ก่อนจะเป็นเวลา ๑ เดือน ก็ต้องเป็นวัน แต่กว่าจะเป็นวัน ก็ต้องมีเหตุการณ์ย่อย ก็คือ ย่อยที่สุด คือจิต ขณะนี้ ที่เกิดดับสืบต่อกัน แต่เพราะความรวดเร็วของการเกิด-ดับ จึงไม่เห็นความสั้น เล็กน้อย แต่ก็สืบต่อมาเป็นวินาที นาที ชม. วัน เป็นต้น ซึ่งโลกก็สมมติขึ้นมาตามที่จิตเกิด-ดับ ทีละขณะ สมมติ เป็นวัน เดือน นาที เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ย. 2550


ข้อ ๒.
ระยะทาง ก็เป็นสิ่งสมมติขึ้น จากสิ่งที่มีจริงคือ จิต เจตสิก รูป เป็นต้น ของจริงคือ จิต เจตสิก รูป แต่เพราะอาศัยของจริงที่กล่าวมา จึงมีการสมมติ บัญญัติขึ้นว่า มีระยะทาง ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูปแล้ว ระยะทางจะมีได้ไหม ถ้าไม่มีสภาพธรรม ที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี แม้เรื่องระยะทาง ดังนั้น ระยะทาง ก็เป็นเพียงเรื่องราวที่คิดนึกจาก สิ่งที่มีจริงคือ จิต เจตสิก รูป นั่นเองครับ ดังเช่น เรื่องกาลเวลา ก็เป็นเป็นเพียงการสมมติบัญญัติขึ้น จากสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นและดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ย. 2550

ข้อ ๓ เวลา และระยะทาง สัมพันธ์กันไหม จากตัวอย่าง ข้อ ๒ การที่จะเห็นสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เห็นน้องชายเป็นต้น ต้องมาจากเหตุปัจจัย คือ กรรมบางอย่างให้ผล เป็นต้น ไม่ใช่ เพราะระยะเวลาหรือเวลา พอดีประจวบเหมาะ ไม่เห็นน้องชาย ก็เพราะมีเหตุ คือกรรมนั้น ไม่ได้ให้ผล ให้เห็น ก็เห็นสิ่งอื่นไป ดังนั้นก็เป็นเพียงเรื่องราวที่คิดนึก นั่นเองว่าเพราะระยะทาง หรือ ระยะเวลา จึงทำให้เห็นน้องชาย แต่จักขุวิญญาณ จะเกิดขึ้นเพราะอาศัยสิ่งใด? มิใช่เรื่องราวที่เป็นระยะทาง และระยะเวลาครับ ดังนั้น สิ่งที่ระยะทางและเวลานั้น เหมือนกันตรงที่ว่า เป็นการสมมติบัญญัติขึ้น จากสิ่งที่มีจริงนั่นเองดังข้อความใน พระไตรปิฎก ลองอ่านดูนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ย. 2550

เรื่อง กาลเวลา เป็นบัญญัติ และอาศัยสิ่งที่มีจริง (จิต เป็นต้น) จึงมีการสมมติกาลเวลาขึ้น
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ... บัญญัติ ชื่อว่า กาล

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
sukchit
วันที่ 9 ก.ย. 2550

ผมขอขอบพระคุณครับ สำหรับคำตอบ จากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และท่านสมาชิก wannee.s, ไรท์แจกแล้วไง, แล้วเจอกัน, แล้วผมจะศึกษาทบทวนให้เข้าใจยิ่งขึ้นไป ขอขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 9 ก.ย. 2550

ไม่มีอะไรเที่ยง นอกจากนิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
olive
วันที่ 10 ก.ย. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 30 มิ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตของท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ