เราอยู่ในความมืดทั้งๆ ที่สว่าง
สนทนา ไทย - ฮินดี วันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๗
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 579
[๒๐๒] วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าวิตก มีในสมัยนั้น.
[๒๐๙] สตินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ อินทรีย์คือสติ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใดนี้ชื่อว่า สตินทรีย์ มีในสมัยนั้น.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 210
[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิอยู่ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์พูดเรื่องนี้ให้อาช่าเข้าใจ เป็นเพราะว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วก็เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ตอนที่เราพูดถึงวิตก วิจาร อาช่าพูดถึงว่าได้ยินจากท่านอาจารย์ว่า จนกว่าเราจะเข้าใจศัพท์หนึ่ง ความหมายของศัพท์หนึ่ง ไม่ควรจะไปต่ออีกศัพท์หนึ่งข้างหน้าโดยไม่เข้าใจศัพท์นี้ตรงนี้ ดูเหมือนว่า อาช่าเข้าใจในพยัญชนะมากกว่าอรรถ โดยแค่เข้าใจความหมายอย่างเช่นที่เราสนทนาศัพท์วันนี้ว่า หมายถึงแค่นี้ แกจะเน้นตรงนี้มาก ขอท่านอาจารย์พูดถึงตรงนี้ครับ
ท่านอาจารย์: ธรรมลึกซึ้งไหม?
อาช่า: ลึกซึ้งมาก
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ธรรมเดี๋ยวนี้เป็น วิตก หรือเปล่า?
อาช่า: เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์: ขณะไหน เมื่อไหร่?
อาช่า: ตอนที่เราในความหมายคนทั่วไปที่เรียกว่า เรากำลังวิจารณ์อยู่คิดอยู่
ท่านอาจารย์: นี่ล่ะ ไม่รู้จากธรรม เพราะเป็นเราที่วิจารณ์ เป็นความคิดของเราทั้งหมด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไรเรื่องวิตกเจตสิก?
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ อาช่าตอบว่า วิจาร เวลาคิดเยอะครับ แล้วผมเลยพูดต่ออีกหน่อยว่า เห็นไหมอยากจะรู้ เขายังยืนยันว่า เขาเคยได้ยินมาว่า วิจาร ก็คืออยู่ตรงนี้ก็มี เพราะฉะนั้น จะถามเรื่องที่มีอยู่ตอนนี้ ผมก็อธิบายว่า ไม่เหมือนกับถาม อย่างเช่น เราเกิดระลึกถึงสัญญา หรือว่าระลึกถึงอะไร แล้วก็ถามขึ้นมาเรื่องนั้น แต่นี่อยู่ดีๆ วิจาร วิตก ไม่ปรากฏ ไม่มีอะไรที่ทำให้นึกถึง เพราะว่าเราเคยคิดถึงมันเราถึงถามถึงมันเพราะสงสัย กับถามเรื่องสมมติตอนนี้โกรธขึ้นมา ก็ถามเรื่องโกรธ มันไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์: คุณสุคิน เราต้องพูดทีละคำ คิดทีละคำ เพราะฉะนั้น คนไทยเองก็ใช้ คำว่า วิจาร พูดถึงเรื่องนั้นอย่างนั้นอย่างนี้เป็นวิจารณ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้อะไร ทำอย่างไร เกิดอย่างไร นี่คือวิจาร
แต่ว่า ถ้าเราเข้าใจวิจารแล้ว เราไม่ต้องศึกษาคำของพระพุทธเจ้าได้ไหม?
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ ขอเปลี่ยนจากวิจาร เพราะแก ...
ท่านอาจารย์: วิตก ก็ได้
คุณสุคิน: วิตก ดีกว่าครับ
ท่านอาจารย์: ถ้าเราคิดว่า เป็นสิ่งที่เราเข้าใจอย่างนี้ๆ เราก็ไม่ต้องฟัง คำ ของพระพุทธเจ้าเลย
คุณสุคิน: ผมเลยยกตัวอย่างแบบท่านอาจารย์ พูดถึงนี่มันก็เกิดขึ้นกับผมตลอดเวลาแหละ เราคิดอย่างนี้ว่าเป็นอย่างนี้ๆ เท่ากับไม่ต้องฟังพระพุทธองค์เลยใช่ไหม แกก็เข้าใจครับ
ท่านอาจารย์: เราอยู่ในความมืด ทั้งๆ ที่สว่าง เพราะเราไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี ไม่ว่าจะมืดหรือสว่าง แต่ว่า ความไม่รู้มืดสนิท เพราะเหตุว่า ไม่สามารถจะรู้ความจริงถึงที่สุดของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้
เดี๋ยวนี้มีแสงสว่างเริ่มที่จะเข้าใจ วิตก ไหม? ต้องไม่ลืมนะ เราศึกษาธรรมจากพจนานุกรมไม่ได้ จากคำของคนอื่นไม่ได้ นอกจาก คำ ที่กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมี แต่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
สัมมาสังกัปปะ คิดเรื่องนามและรูปหรือ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ