สิ่งที่ปรากฏไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง

 
เมตตา
วันที่  16 มี.ค. 2567
หมายเลข  47621
อ่าน  325

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีปัจจัยหรือเปล่า?

อาช่า: มี

ท่านอาจารย์: ปัจจัยอะไร?

อาช่า: มีอารัมมณปัจจัย มีสมนันตรปัจจัย อนันตรปัจจัย วิปากปัจจัย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้สภาพธรรมปรากฏดีไหม?

อาช่า: ไม่ปรากฏดี

ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?

อาช่า: ความไม่รู้มีมาก

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ไม่รู้อะไร?

อาช่า: เราไม่รู้ทุกอย่าง ไม่รู้อะไรเลย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่รู้ เป็นปัจจัยอะไร?

อาช่า: ตอบไม่ได้ นึกไม่ออก ไม่แน่ใจว่าเคยฟังไหม แต่รู้ว่า มีแล้วก็เป็นปัจจัย แล้วก็เป็นปัจจยุบบัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นปัจจัยไหนค่ะ

ท่านอาจารย์: ที่เขากล่าวมาทั้งหมดคือปัจจัยอะไร?

อาช่า: อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย

ท่านอาจารย์: เป็นเหตุปัจจัยด้วยหรือเปล่า?

อาช่า: เริ่มเข้าใจว่า ที่เคยฟังมา เหตุปัจจัย ก็คือเหตุ ๖ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่ว่ายังไม่ได้ฟังมากพอที่จะเข้าใจที่ท่านอาจารย์ถามค่ะ

ท่านอาจารย์: อวิชชา กับโมหะ มีจริงหรือเปล่า?

อาช่า: มีจริง

ท่านอาจารย์: อวิชชา เป็นเจตสิกอะไร?

อาช่า: โมหเจตสิก

ท่านอาจารย์: เป็นเหตุปัจจัยหรือเปล่า?

อาช่า: เป็นเหตุปัจจัย

ท่านอาจารย์: เป็นสหชาตปัจจัยหรือเปล่า?

อาช่า: เป็น

ท่านอาจารย์: เป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า?

อาช่า: ไม่เคยได้ยินเรื่องสัมปยุตตปัจจัยค่ะ

ท่านอาจารย์: สัมปยุตตะ หมายความถึงสภาพนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้เลย เข้ากันสนิท เป็นสภาพรู้ด้วยกันเกิดพร้อมกัน

คุณสุคิน: อาช่าเข้าใจตรงนั้น แต่ว่ามีคำถามขึ้นว่า มีสหชาตปัจจัยด้วย และต่างกับสัมปยุตตปัจจัยอย่างไร?

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ชาตะ หมายความว่าอะไร? สหชาตะ หมายความว่าอะไร?

อาช่า: ชาตะ หมายความว่า เกิด

ท่านอาจารย์: สหชาตะ หมายความว่าอย่างไร?

อาช่า: ด้วยกัน พร้อมกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกันหรือเปล่า?

อาช่า: เกิดพร้อมกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรเป็นสหชาตปัจจัย?

อาช่า: จิต กับเจตสิก

ท่านอาจารย์: จิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่อะไร?

อาช่า: เจตสิก

ท่านอาจารย์: เจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่อะไร?

อาช่า: แก่จิต

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจมั่นคง สห พร้อมกัน ด้วยกัน ชาตะ แปลว่าเกิด หมายความว่าเกิดพร้อมกันทันที ขณะเกิดต้องพร้อมกันแยกกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น จิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก เจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต แยกกันไม่ได้เลย

คุณสุคิน: เพื่อความเข้าใจ เวลาที่ผมอธิบายสหชาตปัจจัยให้อาช่าฟัง ผมพูดว่าสหชาตปัจจัยหมายถึงตามที่ท่านอาจารย์บอก จิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก และเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต แล้วผมก็บอกว่า เจตสิกต่างๆ เป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันด้วย

ท่านอาจารย์: อะไรก็ได้ที่เกิดพร้อมกัน จะไม่ให้เกิดพร้อมกันได้ไหม?

อาช่า: เข้าใจแล้วค่ะ

ท่านอาจารย์: สัมปยุตตะ หมายความว่าอะไร?

อาช่า: จำไม่ค่อยได้ แต่คร่าวๆ สัมปยุตต์ หมายความเดียวกันกับสหชาต หมายถึงเกิดพร้อมกัน

ท่านอาจารย์: ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีสัมปยุตตะ ถ้าเป็นสหชาตะ

อาช่า: เข้าใจว่า คนละคำกัน เพราะฉะนั้น ความหมายก็ต้องต่างกัน แต่ว่าไม่รู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด ถ้าคำเดียวกันก็ความหมายอย่างเดียวกัน ถ้าคนละคำก็ต้องมีความหมายอื่นไม่ใช่คำเดียวกันนั้น ถูกไหม?

นี่เป็นเหตุที่เราต้องละเอียด ไตร่ตรอง จนกระทั่งรู้ความต่างของแต่ละหนึ่ง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สัมปยุตตะ หมายความว่า เกิดพร้อมกัน เข้ากันสนิท รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ใช่เพียงต่างคนต่างเป็นแต่ละชนิดแล้วก็มาเกิดพร้อมกันเท่านั้น แต่เมื่อต่างคนต่างเป็นแต่ละชนิดเกิดพร้อมกัน แต่ยังเข้ากันได้สนิทด้วย

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก เป็นสหชาตะ เกิดพร้อมกัน แล้วก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยด้วย

จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก จิต เจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัย เข้ากันได้เพราะรู้สิ่งเดียวกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องให้เขาคิดทีละเล็กทีละน้อยเป็นความคิดที่ละเอียดขึ้นๆ เพราะว่า สหชาต อะไรก็ตามที่เกิดพร้อมโดยเป็นปัจจัยให้อีกอย่างหนึ่งเกิดเป็นสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ตัวอย่างหยาบๆ ให้เขาเข้าใจหยาบๆ แต่ต้องเป็นการให้เขาเข้าใจละเอียดจริงๆ ว่า ธรรมต่างกันโดยปัจจัยต่างกัน

เพราะฉะนั้น แต่ละปัจจัยถึงแม้ว่าจะคล้ายกัน แต่ก็ต่างกัน ถ้าฟังแต่ตัวอย่าง เข้าใจตามตัวอย่าง แต่ไม่รู้ปัจจัยแต่ละปัจจัย ก็ไม่สามารถที่จะชัดเจนได้

เพราะฉะนั้น แม้แต่ คำว่า สหชาตะ เกิดพร้อมกัน ยังต้องมีคำว่า ปัจจัยด้วย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มี ๒ คำ ปจฺจยฺยะ กับ ปจฺจยุบปนฺนะ และมีอีกคำ ปัจจนิกธรรม หมายความว่าธรรมที่ไม่เกียวข้องกับปัจจัย และปัจจยุบบันนี้เลย

ปัจจยุบบัน มาจากคำว่า ปัจจัย กับอุปปันนะ สภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น อุปปันนะ แปลว่า เกิด สิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น เป็นผลของปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจธรรม จึงจะรู้ชัดเจนในแต่ละคำ ต้องละเอียดมากไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม

อาช่า: ค่ะ

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เกิดเป็นปัจจัย มีปัจจยุบบันนะไหม?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: ยกตัวอย่างซิ

อาช่า: จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด ตอนนั้นเจตสิกเป็นปัจจยุบบันธรรม

ท่านอาจารย์: ยกตัวอย่างนะ จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วเป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดต่อเป็นสหชาตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจนะ ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยให้อาโปธาตุเกิดหรือเปล่า?

อาช่า: ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้ว วาโยธาตุ เป็นปัจจัยให้ปฐวีธาตุเกิดได้ไหม?

อาช่า: ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: โดยปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย

ท่านอาจารย์: โดยสัมประยุตตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?

อาช่า: เพราะว่า สัมประยุตตปัจจัยมีเฉพาะนามธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: นี่เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จิต กับเจตสิก ที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย และสัมปยุตตปัจจัย

ท่านอาจารย์: รูปที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย

ท่านอาจารย์: เป็นสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: นี่คือเข้าใจแน่นอน มั่นคง เปลี่ยนไม่ได้ ให้รู้ว่า แต่ละอย่างอาศัยหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงเกิดแล้วดับ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าเราไม่ได้ฟังเลย จะไม่สามารถรู้ว่า แต่ละหนึ่ง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใชาเราเลย

เดี๋ยวนี้มีทั้งจิต และเจตสิก จะต้องคิดไหมขณะนี้ ว่า จิตเกิดขึ้นอาศัยเจตสิก และเกิดพร้อมกัน?

อาช่า: ไม่เกี่ยวกับว่าจะคิด แต่เข้าใจว่าเกิดเป็นอย่างนี้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เข้าใจจิตหรือยัง? เข้าใจเจตสิกหรือยัง?

อาช่า: ยังไม่เข้าใจ

ท่านอาจารย์: นี่เป็นเหตุที่เราฟัง เพื่อค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงของธรรมแต่ละหนึ่งเพิ่มขึ้น ค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจที่ละเอียด จนกระทั่งรู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

ฟังเข้าใจเรื่องสหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย แต่ไม่รู้ลักษณะของจิตเดี๋ยวนี้ และเจตสิกเดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น ฟังอะไรเพื่อเห็นความลึกซึ้ง และความละเอียดอย่างยิ่งของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นประโยชน์ว่าไม่สามารถจะบังคับให้ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ที่ทำให้ค่อยๆ ละการยึดถือว่าเป็นเรา

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจทีละน้อย มั่นคงว่า กำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เห็นความลึกซึ้งไหมว่า กว่าจะเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องอาศัยการฟังความจริง แล้วค่อยๆ เข้าใจความจริงทีละน้อยยิ่งขึ้น

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ปัจจนิกธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: จิตที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ไหม?

อาช่า: ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: โดยปัจจัยอะไร?

อาช่า: เท่าที่นึกได้คือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จิตเดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นโดยสหชาตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: โดยสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: มหาภูตรูป ธาตุดินเป็นปัจจัยให้ธาตุน้ำเกิดได้ไหม?

อาช่า: ได้

ท่านอาจารย์: ปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย

ท่านอาจารย์: เป็นสัมประยุตตปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: มั่นคงแล้วนะ ค่อยๆ เข้าใจธรรมที่ต่างกัน จิต เจตสิก รูป แม้เป็นปัจจัยก็เป็นปัจจัยที่ต่างๆ กันไปก็ได้

เห็นไหมว่า เราไม่ได้พูดแต่เพียงชื่อ ไม่มีประโยชน์ที่จะจำชื่อ แต่ว่ามีประโยชน์ที่จะรู้ความจริงว่า ธรรมเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

เดี๋ยวนี้มีอะไร?

อาช่า: เห็น

ท่านอาจารย์: มีปัจจัยอะไร จิต เกิดเห็น?

อาช่า: มีอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย มีวิปากปัจจัย

ท่านอาจารย์: ดีมากที่นึกถึงวิปากปัจจัยได้ คุณอาช่าเคยได้ยินที่ไหนมาหรือเปล่า วิปากปัจจัย?

อาช่า: ไม่ได้เคยสนทนาเรื่องนี้ แต่นึกได้ว่า เห็นเป็นวิบาก และเจตสิกที่เกิดพร้อมกันเป็นวิบาก เกิดจากกรรมเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็มีวิปากปัจจัยด้วย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น วิปากปัจจัยขณะนี้เดี๋ยวนี้คืออะไร?

อาช่า: เห็น

ท่านอาจารย์: ดีมาก เห็นเป็นวิปากปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบันของเห็น?

อาช่า: เจตสิกที่เกิดพร้อมจิต

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดพร้อมจิต เป็นวิปากปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: น่าจะเป็นไปได้

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่เดานะ ไม่ใช่คิดเอง แต่ต้องพิจารณาในเหตุผล ในเมื่อจิตเป็นวิปากปัจจัย เป็นกุศล อกุศลไม่ได้ เป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นวิปากปัจจัยเพราะทั้งสองอย่างเกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัย แต่ต่างกันที่กัมมปัจจัยทำให้จิต เจตสิกเกิดขึ้นเป็นวิบาก แต่จิตที่เป็นวิบากทำให้เจตสิกที่เป็นวิบากที่เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกันเป็นวิบากด้วยกัน จึงเป็นวิปากปัจจัยแก่กันและกัน

ประโยชน์ของการที่เราพูดถึงเรื่องนี้ คืออะไร?

อาช่า: เพื่อที่จะเพิ่มความเข้าใจ และอุปนิสัยที่เดิมๆ ที่คิดว่ามีตัวตน มีเรา จะได้เริ่มมีความมั่นคงว่า จริงแล้วมีแต่ธรรมต่างๆ อย่างเช่นที่เราพูดถึงวิปากปัจจัย นี่คือเข้าใจว่า ถ้าไม่มีกรรมในอดีต ก็เห็นตอนนี้เกิดไม่ได้ เพื่อที่จะให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า จริงๆ แล้วไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมต่างๆ ที่มีปัจจัยจากอดีตถึงปัจจุบัน จริงๆ แล้วก็มีแค่ธรรม

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะที่เรากำลังเข้าใจเป็นประโยชน์อะไร?

อาช่า: ทำให้ความไม่รู้น้อยลง

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกเท่านั้นที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น นี่คือหนทางที่จะทำให้ค่อยๆ ละความเป็นเรา ค่อยๆ เข้าใจความจริงจนประจักษ์แจ้ง

เพราะฉะนั้น ความเห็นอย่างนี้ถูกหรือผิด เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์?

คุณสุคิน: อาช่ามีข้อสงสัยหนึ่งเกี่ยวกับเห็น เห็นเป็นวิบาก เกิดจากกรรมในอดีต และเจตสิกก็เกิดจากกรรมเดียวกัน และก็เป็นวิบากเหมือนกัน และก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ตอนนี้รู้ว่า เห็นเห็นสี แล้วก็มีคำถามเรื่องสี สีเป็นอะไรที่เกี่ยวกับกรรมในอดีตไหม?

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดนะ แต่ต้องรู้ว่า ที่ใช้คำว่า สี นั้นคืออะไร?

อาช่า: เป็นรูปธรรม

ท่านอาจารย์: รูปธรรมเป็นวิปากปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: สีที่เห็น ก็เป็นวิปากเหมือนกัน

ท่านอาจารย์: วิปาก หมายความถึงอะไร?

อาช่า: เป็นผลของกรรม

ท่านอาจารย์: รูปเป็นวิปากปัจจัยได้ไหม รูปเป็นวิบากได้ไหม?

อาช่า: ได้

ท่านอาจารย์: วิปากได้แก่อะไร?

อาช่า: รูปเป็นวิบากไม่ได้เพราะวิบากหมายถึงนามธรรมเท่านั้น

ท่านอาจารย์: เห็นไหม เห็นไหม ฟังแล้วต้องเข้าใจมั่นคงแน่นอน ไม่ลืม รูปเป็นผลของกรรมได้ แต่รูปเป็นวิบากไม่ได้

รูปเป็นผลของกรรมได้ แต่รูปไม่เห็น ไม่ได้ยิน เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมต่างๆ เท่านั้น

ธรรมละเอียดลึกซึ้ง ถ้าเข้าใจผิดเรื่องนี้ก็จะทำให้เข้าใจผิดเรื่องอื่นได้ ซึ่งจะไม่ใช่หนทางที่จะรู้ความจริง เห็นความลึกซึ้งของพระธรรมไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงของ นามรูป จะรู้ได้เลยว่า รูปเป็นรูป รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นรูปที่ละเอียดปานใดก็ตาม

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นๆ เท่านั้น ที่จะทำให้รู้ว่า ธรรมละเอียดลึกซึ้ง และนี่คือหนทางที่จะเข้าใจธรรมที่ละเอียดเพิ่มขึ้น

อยากจะรู้อะไรอีกไหม อยากจะเข้าใจอะไรอีกไหม?

คุณสุคิน: ก่อนหน้านี้อาช่าพูดเหมือนกับว่า สิ่งที่ถูกเห็นเป็นผลของกรรม เพราะรู้ว่าเห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม ตอนนั้นฟังเหมือนแกจะรู้ว่า รูปเป็นอารัมมณปัจจัย แต่เป็นตัวนี้เป็นผลของกรรมนั้นด้วยหรือเปล่า?

ท่านอาจารย์: ตัวไหน ตัวนี้คือตัวไหนว่าเป็นผลของกรรมหรือเปล่า

คุณสุคิน: สี ที่จิตเห็นเห็น รูปที่จิตเห็นเห็น

ท่านอาจารย์: หมายถึงรูปที่เห็นเป็นผลของกรรมหรือเปล่าใช่ไหม?

คุณสุคิน: อาช่าขอให้ท่านอาจารย์พูดถึงอารมณ์ของเห็นว่า ตรงนี้นอกจากเป็นอารัมมณปัจจัยแล้วเป็นอะไรได้อีกครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: อารัมมณปัจจัยมีอะไรบ้าง? เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เขาได้เข้าใจบ้างแล้ว แต่ว่าความละเอียดที่ต้องตรงที่จะทำให้สามารถรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย ต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเฉพาะที่จะให้เกิดธรรมนั้นๆ ด้วย

คุณสุคิน: อาช่าอยากให้ท่านอาจารย์พูดเรื่องอารัมมณปัจจัย แกบอกรู้แค่จำได้ว่าเป็นอารัมมณปัจจัย อยากให้ท่านอาจารย์เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจครับว่า อารัมมณปัจจัยนี่คืออะไร

ท่านอาจารย์: อารัมมณะ คืออะไร?

อาช่า: แทบจะไม่รู้เลย ขอท่านอาจารย์เริ่มต้นใหม่เลยว่าอารัมมณะคืออะไร

ท่านอาจารย์: จิตเป็นสภาพรู้ เมื่อไหร่ที่จิตเกิดต้องรู้ จิตรู้อะไรสิ่งนั้นเป็นอารัมมณะของจิต จิตไม่มีอารมณ์ได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: จิตเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่ง ที่จิตรู้ จิตรู้อะไรสิ่งนั้นเป็นอารัมมณะของจิต จิตไม่มีอารัมมณะได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อารัมมณะเป็นปัจจัยให้จิตรู้เกิดขึ้น

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: มีจิต ไม่มีอารัมมณะได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: มีอารัมมณะ ไม่มีจิตได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จิตเกิดรู้อารัมมณะ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ทั้งวันมีจิตทั้งวันมีอารัมมณะ ในขณะที่จิตหนึ่งเกิด ต้องมีสิ่งที่เป็นอารัมมณะหนึ่ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2567

อาช่า: สี (สิ่งที่ปรากฏทางตา) เกี่ยวข้องกับกรรมในอดีตหรือไม่?

ท่านอาจารย์: ทำไมไปคิดเรื่องกรรม?

อาช่า: ในเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม และเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็นก็เป็นผลของกรรมเดียวกัน ตอนที่เห็น อารมณ์ของเห็นก็เป็นผลของกรรมเดียวกันหรือเปล่า?

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คุณอาช่าไม่ได้เข้าใจว่า ธรรมแต่ละหนึ่งเป็นธรรมแต่และหนึ่ง คุณอาช่าคิดเอง

อาช่า: เข้าใจว่าคิดเองค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไตร่ตรองนะ จิตเห็นอะไร?

อาช่า: สี

ท่านอาจารย์: เห็นสิ่งที่กระทบตาใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: สิ่งที่กระทบตามีจริง ไม่ต้องเรียกอะไรก็ได้ แต่มีจริงๆ ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: สิ่งที่กระทบตามีจริงๆ แน่นอนใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เห็นจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่กระทบตาได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทบตามีจริง เป็นอะไร?

อาช่า: เป็นรูปอย่างหนึ่งที่เห็นได้

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่นามธรรมนะ

อาช่า: ไม่ใช่

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รูปต้องมีปัจจัยจึงเกิดได้ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เริ่มคิดละเอียดขึ้น รูปเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปมีอะไรบ้าง?

อาช่า: เคยได้ยิน แต่ไม่มาก

ท่านอาจารย์: ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปมี ๔

รูป เกิดจากกรรม ๑

รูป เกิดจากจิต ๑

รูป เกิดจากอุตุ ๑

รูป เกิดจากอาหาร ๑

เกิดไม่พร้อมกัน ทีละหนึ่ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: รูปที่เกิดจากกรรม ชื่อว่ากัมมชรูป ชะ แปลว่า เกิด

รูปที่เกิดจาก จิต ชื่อว่า จิตตชรูป

รูปที่เกิดจาก อุตุ ความเย็น ความร้อน ชื่อว่า อุตุชรูป

รูปที่เกิดจาก อาหาร ชื่อว่า อาหารชรูป

แข็ง กำลังกระทบแข็ง แข็งเกิดจากอะไร เป็นรูปที่เกิดจากอะไร เกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรืออุตุ หรืออาหาร?

อาช่า: เกิดจากอุตุค่ะ

ท่านอาจารย์: แน่ใจหรือ?

คุณสุคิน: ผมยกตัวอย่าง โต๊ะ ที่เขาไปแตะหรือกระแทก

ท่านอาจารย์: แข็งที่โต๊ะกับแข็งที่ตัวเกิดจากอะไร?

อาช่า: เกิดจากอุตุค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?

อาช่า: ไม่เข้าใจค่ะ

ท่านอาจารย์: รูปทุกรูปต้องมีสมุฏฐานให้เกิด ๑ สมุฏฐาน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรม ต้องมี ๘ รูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด แต่ความจริงมีมากกว่านั้นเพราะเหตุว่ามีกรรมเป็นสมุฏฐาน

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มีรูปเดียวที่สามารถกระทบตา คือสิ่งที่เรียกว่า สี ก็ได้ สิ่งที่มองเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ได้ แต่ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็มีรูปนั้น

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็นอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ รู้ไหมว่าเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอะไร

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็ไม่สงสัยแล้วนะว่า ขณะที่เห็นเป็นรูปที่เกิดจากอะไร

อาช่า: เข้าใจแล้ว แต่ในเมื่อท่านอาจารย์พูดถึง ปัจจนิกธรรม ตรงนั้นหมายถึงว่า สิ่งที่เห็นอย่างเช่น โทรศัพท์ นั่นคือตัวอย่างของปัจจนิกธรรมไหม?

ท่านอาจารย์: ต้องเข้าใจนะ ปัจจนิกธรรม คือไม่ใช่ปัจจัย และปัจจยุบบันธรรมขณะนั้น

คุณสุคิน: ผมก็พูดว่า ตอนนั้นเป็นอารมณ์ใช่ไหม ...

ท่านอาจารย์: อะไรเป็นอารมณ์?

คุณสุคิน: สี ที่เห็นครับ

ท่านอาจารย์: แล้วอย่างไง?

คุณสุคิน: เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจนิกธรรมได้หรือไม่

ท่านอาจารย์: แล้วเป็นปัจจยุบบันหรือเปล่า? ถ้าเป็นปัจจยุบบันก็ไม่เป็นปัจจนิกธรรม

คุณสุคิน: ใช่ ก็หมายถึงเป็นปัจจยุบบันก็ไม่ใช่ปัจจนิกธรรม

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจปัจจัย กับปัจจยุบบัน ขณะนั้นอย่างอื่นก็เป็นปัจจนิกธรรมเท่านั้นเอง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นเพียงชื่อให้รู้ว่า ขณะนั้นอะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบัน และอะไรไม่ใช่ปัจจัยและปัจจยุบบันเท่านั้นเอง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พูดถึงคำนี้ เวลาที่เขาเห็นคำนี้ ที่ได้ยินคำนี้ เขาจะไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไรเท่านั้นเอง

คุณสุคิน: อาช่ายินดีที่ได้ฟังได้เข้าใจวันนี้ เพราะเข้าใจผิดมาตลอดว่าเคยได้ยินและพิจารณาดู เรื่องเห็นมี ๒ คือผลของกุศล แล้วก็ผลของอกุศลกรรม แล้วเคยได้ยินว่าผลของกุศลกรรมหมายถึงตอนนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ ผลของอกุศลกรรมเป็นอนิฏฐารมณ์ เลยคิดเอาเองว่า อารมณ์ก็เป็นผลของกรรม วันนี้มาเข้าใจดีขึ้นค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกคำต้องชัดเจน

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ก็ต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจะสามารถรู้อะไรได้บ้าง?

นี่เป็นคำถามให้คุณอาช่าตอบนะ ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจะสามารถรู้อะไรได้บ้าง?

อาช่า: ที่รู็ได้ ก็คือ เห็น ได้ยิน สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ที่คิด ความรู้สึก โกรธ ความติดข้อง อะไรแบบนี้ รู้ได้แค่นี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: รู้ได้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นตลอดชีวิตทุกชาติ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จริงไหม?

อาช่า: จริงค่ะ

ท่านอาจารย์: ขณะนี้กำลังรู้ทางไหน?

อาช่า: เห็นอยู่ แล้วก็หมายถึงว่า ปัญจทวารค่ะ

ท่านอาจารย์: และมโนทวาร

อาช่า: ค่ะ มโนทวาร

ท่านอาจารย์: มโนทวารจะรู้ทุกอย่างที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ต้องเข้าใจนะ ถ้าไม่เข้าใจ ทุกคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามที่ได้ประจักษ์แล้ว จะไม่รู้ความจริงที่กำลังเห็น กำลังได้ยินในชีวิตประจำวัน คิดนึกต่างๆ ได้เลย.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: ธรรมมีจริงไหม?

อาช่า: มีจริงค่ะ

ท่านอาจารย์: รู้ได้ทางไหน?

อาช่า: ปัญจทวาร และมโนทวาร

ท่านอาจารย์: มีทางอื่นอีกไหมที่จะรู้ได้?

อาช่า: ไม่มีค่ะ

ท่านอาจารย์: มั่นคงแล้ว เพราะฉะนั้น ยังไม่พอ ต้องเข้าใจขึ้น มั่นคงอีก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ทีละหนึ่ง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะแม้ว่า ชีวิตทุกขณะจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ปรากฏดีตามความเป็นจริงเลย

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จริงไหม?

อาช่า: จริงค่ะ

ท่านอาจารย์: จะปรากฏดีเมื่อไหร่?

อาช่า: คาดการณ์ไม่ได้ แต่เข้าใจว่าต้องเจริญความเข้าใจอีกนาน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มจะปรากฏดีทีละน้อย เมื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจากที่ได้ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Dechachot
วันที่ 21 มี.ค. 2567

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ