กระจก ธูป ทีวี หลอดไฟ ยึดว่าเที่ยงและเป็นเรา!
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ในกระจก ยึดว่ามีเราแล้ว นอกกระจกก็ ... .
ทุกคนก็เคยส่องกระจก ขณะที่ส่องกระจก ขณะนั้นคิดว่ามีเราจริงๆ ในกระจกหรือเปล่า ตรงนี้ ผม ตรงนี้ ริมฝีปาก จมูก เป็นต้น จริงๆ แล้วมีเราที่กระจกไหม ก็คิดนึกเท่านั้น ขณะนั้น ไม่มีเราเลย ลองจับที่กระจกดู แข็ง เป็นใครหรือเปล่าที่อยู่ในกระจก หรืออาจมีคำกล่าวว่า นี่ไง ตัวเรา จับที่แขน ที่ตัว ขณะที่จับ อะไรปรากฎ ก็ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะที่ สภาพธรรมนั้น ปรากฎทีละอย่าง เช่น อ่อน ขณะนั้น เราอยู่ตรงไหน มีแค่สภาพธรรมที่อ่อนเท่านั้น แต่เพราะสัญญาความจำที่จำ สภาพธรรมที่ปรากฎ เช่น เย็น ร้อน เป็นต้นว่า เป็นเราเท่านั้นเอง ที่แท้ก็สำคัญว่า "มีเรา" ทั้งๆ ที่คิดนึกจากสิ่งที่ปรากฎเท่านั้นเองครับ
แกว่งธูป เห็นว่าเที่ยง และมีสิ่งนั้นจริงๆ
เมื่อจุดธูป เห็นไฟจุดเดียวใช่ไหม ลองแกว่งธูป เป็นไงครับ เห็นเป็นวงกลมขึ้นมาแล้ว ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงไฟจุดเดียวเท่านั้น แต่เพราะการสืบต่อ ของการหมุนก้านธูป จึงทำให้หลงเข้าใจผิดว่ามี วงกลม ฉันใด แม้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ในขณะนี้ เช่น ขณะที่เห็น ก็เกิดขึ้นและดับไป แต่เพราะความเกิดดับของสภาพธรรมคือ เห็น เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เห็นว่า เห็นขณะนี้ ไม่ดับไปเลย ยังเห็นว่าเที่ยงอยู่เสมอ เพราะความเกิดขึ้นและดับไปของธรรมอย่างรวดเร็ว สืบต่อกัน ดังเช่น การแกว่งธูปนั่นเอง
มีใครในจอจริงๆ หรือเปล่า แล้วนอกจอล่ะ ขณะนี้มีใครไหม
ในจอโทรทัศน์ เราสำคัญว่ามีใครจริงๆ ขณะที่ดู มีคนนั้นคนนี้ เพราะอะไร เพราะคิดนึกในสิ่งที่เห็น จริงๆ แล้วมีใครจริงๆ ในจอโทรทัศน์หรือเปล่า ลองไปจับที่จอ ก็แข็งและสิ่งที่เห็นในจอ ก็เป็นสีต่างๆ แต่เมื่อเห็นแล้วก็คิดนึกอย่างรวดเร็ว (จิตเกิดดับเร็วมาก) ทำให้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งๆ ที่ ไม่มี สัตว์ บุคคลในจอโทรทัศน์จริงๆ เลย และลองมาเปลี่ยนเป็นจอใหญ่บ้าง อะไรเป็นจอใหญ่ ก็ขณะที่เห็นขณะนี้เอง เป็นจอที่ใหญ่กว่าจอโทรทัศน์ซึ่งก็ไม่ต่างกันเลย เพราะจริงๆ ก็เห็นเพียงสีต่างๆ แต่ด้วยความสืบต่อของจิต และการเกิดดับของจิตที่เร็วมาก (เห็นแล้วคิดนึกในสิ่งที่เห็น) ก็ทำให้เห็นเป็น คนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งต่างๆ แท้ที่จริง ก็เป็นเพียง สีเท่านั้นที่เห็น ดังนั้นการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส ต้องไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล จริงๆ มีแต่ธรรม
หลอดไฟ เห็นว่า เที่ยง แล้วขณะนี้ล่ะ เที่ยงไหม?
ขณะที่ดูหลอดไฟ เมื่อเปิดไฟ เราก็เห็นว่าหลอดไฟนั้นสว่างตลอด คงที่ไม่กระพริบแต่ความเป็นจริงแล้ว หลอดไฟก็มีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา (ตามความเร็วรอบ) แต่เราไม่เห็นเลยว่า หลอดไฟนั้นกระพริบเกิดดับเลย เพราะเหตุใด เพราะมีการกระพริบเกิดดับเร็วมาก จนเห็นว่าเที่ยงนั่นเอง ฉันใด แม้สภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ ก็เกิดดับเร็วมาก แต่ก็ไม่เห็นว่าเกิดดับเลย เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก สืบต่อจนเห็นว่าเที่ยง และก็ไม่มีปัญญาเห็นความเกิดขึ้น และดับของสภาพธรรมด้วย จึงเห็นว่าเที่ยง และยึดด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง ขณะนี้เห็น ตามความเป็นจริง เห็น (จักขุวิญาณ) เกิดขึ้น และดับไป และก็ได้ยินบ้าง แต่ก็ยังเห็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ขณะที่ได้ยิน ขณะนั้นจะต้องไม่เห็น เพราะสภาพธรรมเกิดดับ สืบต่อเร็วมาก และไม่มีปัญญาที่จะไปรู้นั่นเอง เราจึงยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเที่ยง ยั่งยืน มีคน มีสัตว์
การอบรมปัญญา ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อนว่า ธรรมคืออะไร และต้องเป็นลำดับและต้องเข้าใจถูกว่า ขณะที่คิดพิจารณาสภาพธรรม หรือเรื่องราวของสภาพธรรม ขณะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่อาศัยการพิจารณาเรื่องสภาพธรรม ก็ย่อมเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจ เรื่องสภาพธรรม และให้สติปัฏฐานเกิดครับ ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การเกิดดับของจิตเร็วยิ่งกว่าเสี้ยววินาที ถึงจะเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ ที่ชวนวิถี แต่ถ้าหลงลืมสติ ไม่มีปัญญา ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็น "กุศล" หรือ "อกุศล" ขออนุโมทนาครับ
ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
คุณแล้วเจอกัน ยกตัวอย่างได้ดีค่ะ ให้แง่คิดและเห็นลักษณะของธรรม แต่ตัวเองก็ยังมีปัญญาไม่พอ เลยยังนึกคิดเป็นตัวตนของเราอยู่ คงต้องค่อยๆ ศึกษาอีกมาก และสะสมปัญญา จากการอ่านและฟัง พระสัจธรรมไปอีกนานค่ะ
ขออนุโมทนาด้วยค่ะ
ขอนุญาตถาม คุณแล้วเจอกัน หรือท่านผู้รู้ครับว่า
๑. พระอริยบุคคล มีความเห็นต่างจากปุถุชนอย่างไร (ตามตัวอย่างที่ได้ยกมาสนทนา)
๒. ความติดข้องของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี ต่างจากปุถุชนอย่างไร
๓. เมื่อพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี เกิดความเศร้าโศกจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก หรือประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก จะมีสิ่งใดบ้างที่เหมือนหรือแตกต่างจากปุถุชน
ขอบพระคุณทุกท่านล่วงหน้าครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
๑ .พระอริยบุคคล มีความเห็นต่างจากปุถุชนอย่างไร (ตามตัวอย่าง ที่ได้ยกมาสนทนา) ตามตัวอย่างที่ได้ยกมา ได้กล่าวถึง ความยึดถือว่าเที่ยง และเป็นตัวตน พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ไม่มีความยึดถือว่าเที่ยง และเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น พระอริยบุคคลก็ย่อมไม่ยึดว่าเที่ยง และเป็นตัวตน แต่ปุถุชนรวมทั้งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ได้ยึดว่าเที่ยง และเป็นตัวตน หรือ กุศลเกิด ก็ไม่ได้ยึดว่าเที่ยง และเป็นตัวตน (ไม่วิปลาส) แต่ยังมีอนุสัยกิเลส ที่เป็นความเห็นผิดอยู่ ที่ยังไม่ได้ดับ ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลครับ
๒. ความติดข้องของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี ต่างจากปุถุชนอย่างไร
สภาพที่ติดข้องคือโลภะนั้น ไม่ต่างกันคือ ทำกิจหน้าที่คือติดข้อง แต่ความติดข้อง มีหลายระดับ ตามกำลังปัญญาและกิเลสที่มีอยู่ สภาพธรรม ที่เป็นความโกรธ เมื่อเกิดกับใครก็ย่อมมีลักษณะเดียวกัน แต่ก็ตามระดับปัญญาเช่นกัน และอำนาจกิเลส การเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดกับใคร ก็ทำกิจอย่างเดียวกัน คือเห็น ดังนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ตามธรรมของธรรมนั้นที่เกิด ต่างกันที่ระดับของสภาพธรรม ที่เกิดนั้น แต่สภาพธรรมนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเมื่อเกิดขึ้นเลยครับ
๓. เมื่อพระอริยบุคลขั้นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี เกิดความเศร้าโศก จากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก หรือประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก จะมีสิ่งใดบ้างที่เหมือนหรือแตกต่างจากปุถุชน ขอบพระคุณทุกท่านล่วงหน้าครับ ขออนุโมทนาดังที่กล่าวไปแล้ว สภาพธรรม เมื่อเกิดขึ้น ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของสภาพธรรมนั้น ความเศร้าโศก เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ก็ทรงไว้ซึ่งลักษณะ คือ ความทุกข์ใจเหมือนกันหมด แต่เมื่อสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว อะไรล่ะที่ต่างกัน ระหว่างพระอริยบุคคล กับปุถุชน คือ ปัญญานั่นเองที่ต่างกัน ปัญญาก็มีหลายระดับ พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ดับความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลแล้ว ดังนั้น เมื่อความเศร้าโศกเกิดขึ้น ปุถุชน ย่อมยึดถือว่าเป็นเราที่เศร้าโศก ไม่รู้ความจริงว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่พระโสดาบัน และพระสกทาคามีก็ยังมีความเศร้าโศกเกิดขึ้น แต่เมื่อความเศร้าโศกเกิดขึ้นแล้ว ท่านไม่มีความเห็นผิดว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลตัวตนเลย เพราะท่านดับความเห็นผิดหมดแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต่างก็คือปัญญา ที่รู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธรรมและมีความเห็นผิด และไม่มีความเห็นผิดว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ในขณะที่สภาพธรรมเกิดครับ
ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ถึงแม้ยังมีความติดข้อง และเศร้าโศก แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ก้าวล่วงอกุศลกรรมบท ๑๐ เลย เพราะท่านได้ดับอนุสัยกิเลสอันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายแล้ว
ความยึดมั่นว่าสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เหนียวแน่นมากๆ จริงๆ
ขออนุญาตตอบคำถามของ คุณ K เพิ่มเติมนะครับ
๑. พระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป ดับมิจฉาทิฏฐิทุกประการได้เป็นสมุจเฉท หมดความเห็นผิด ในสภาพธรรมว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน และหมดความสงสัยในสภาพนามธรรม และรูปธรรม ตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฎให้รู้ได้ในขณะนี้
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ... สงสัยเรื่องวิปลาสของพระโสดาบัน รบกวนถามเรื่องพระโสดาบันค่ะ
ข้อความในพระไตรปิฎกว่าด้วย ธรรมที่พระโสดาบันละได้แล้ว
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๘๑๘
๖. ปหีนสูตร
ว่าด้วยธรรมที่พระโสดาบันละได้แล้ว
[๓๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ อันบุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฏฐิละได้แล้ว ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑
วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ โทสะที่ เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ โมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล อันบุคคลผู้ถึง พร้อมด้วยทิฏฐิละได้แล้ว.
จบปหีนสูตรที่ ๖
อรรถกถาปหีนสูตรที่ ๖ ท่านไม่ได้พรรณนาไว้.
๒. พระโสดาบันยังไม่ได้ดับโลภะ ท่านจึงยังมีโลภะ เกิดได้ตามเหตุปัจจัย แต่พระสกทาคามี ท่านคลายโลภะ ความติดข้องในกามอย่างหยาบได้ ท่านจึงมีโลภะที่ติดในกามคุณ ๕ น้อยกว่า พระโสดาบันและปุถุชนมาก
ขอเชิญอ่านได้จากพระไตรปิฎก ... เรื่อง พระสกทาคามี
พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ หน้าที่ ๒๓๘ [๕๐] สกทาคามีบุคคล บุคคลชื่อว่า สกทาคามี เป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง เป็นพระสกทาคามีซึ่งยังจะมาสู่โลก นี้คราวเดียวเท่านั้นแล้วทำที่สุดทุกข์ได้บุคคลนี้เรียกว่า สกทาคามี.
๓. มีสิ่งที่รักมากเท่าไร ... ..ก็ทุกข์ใจมากเท่านั้น แม้แต่พระโสดาบันก็ยังต้องทุกข์โศกเพราะโลภะเป็นเหตุได้ ดังเช่น อุบาสิกาวิสาขาวิคารมารดา ผู้สูญเสียหลานอันเป็นที่รัก หรือพระอานนท์ ซึ่งน้อยใจที่ท่านไม่สามารถจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว และเศร้าโศกในกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน เป็นต้น
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ... พระโสดาบันทำไมยังเสียใจ ส่วนพระสกทาคามี เมื่อโลภะที่เกิดกับจิตของท่านเบาบางลงไป ทุกข์จากโลภะ ย่อมมีน้อยกว่าผู้ที่ยังโลภะมาก อย่างพระโสดาบัน และปุถุชน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๕๘
ลักษณะพระสกทาคามี
บทว่า ตนุตฺตา แปลว่า เพราะ (กิเลสทั้งหลาย) เบาบาง. อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ของพระสกทาคามีเบาบางไม่แน่นหนา เปรียบเหมือนชั้นแผ่นเมฆและเปรียบเหมือนปีกแมลงวัน.
แต่ทุกข์ของปุถุชนมาก เปรียบเหมือนกับผืนดินของโลกนี้ทั้งโลกครับ
จากความเห็นที่ ๑๑ ขออนุโมทนาครับ แล้วเจอกัน ฯลฯ พระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ไม่มีความยึดถือว่าเที่ยง และเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น พระอริยบุคคลก็ย่อมไม่ยึดว่าเที่ยง และเป็นตัวตน ฯลฯ เราปุถุชนผู้กำลังศึกษา ยังอยากที่จะ มีความเป็นเรา เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้รู้สภาพธรรม ยังสงสัยว่ามีเรา เป็นของเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคลอีกหรือความเร็ว ความละเอียดของสภาพธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ไม่ใช่เรา อริยมรรค อริยผลไม่ใช่เรา ขออนุโมทนา