ความยุติธรรมมีจริง (หรือไม่)

 
Theerawat
วันที่  6 ส.ค. 2567
หมายเลข  48251
อ่าน  1,270

** เวลาทำความดี ทำไมความดีไม่แสดงผลของความดีออกขณะนั้น ทำไมต้องรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม เหมาะควร หรือบุญเต็มแล้ว ซึ่งมักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งๆ

ปล.บ้างครั้งบุญที่เราทำบุญ ก็อยากได้ผลในชาตินี้ ตอนนี้หรือเวลานี้

**เวลาทำบาป หรือ ความไม่ดี ทำไมมันไม่ส่งผลรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอ ให้ตาย


ปล.ไม่ได้มีเจตนาอะไรที่ไม่ดี ครับ แค่ เออ นะ!! มันก็แปลกดี หากผิดพลาด หรือใช้คำไม่เหมาะประการใด ต้องขอประทานอภัยใน ณ ที่นี้ และพร้อมปรับปรุงต่อไปครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นธรรม ตรง เป็นสัจจธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กรรมดี กุศลธรรม หรือ เหตุดี ย่อมให้ผลดี ส่วน อกุศลกรรม กรรมชั่วหรือเหตุชั่วหรือเหตุไม่ดี ก็ต้องให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ตามควรแก่เหตุ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกาลเวลาโอกาสของกรรมว่าจะให้ผลเมื่อใด แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญของใครทั้งสิ้น ความยุติธรรม จึงมีเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ กรรมย่อมยุติธรรมที่สุดในการให้ผล ให้ผลโดยไม่ผิดตัวด้วย

สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ การเจริญกุศล ทำความดีทั้งหมด ก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย


[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๒๑

"แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล
แต่เมื่อใด บาปเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว
ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล
แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี"

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ -หน้าที่ ๒๓๖

"ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไป ฉะนั้น บาปกรรม ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้ากลบไว้ฉะนั้น"

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๖๘

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น
คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี
ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว


ความเป็นจริงของธรรม ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่เกิดมาแล้ว ก็มีความแตกต่างกัน มีความประพฤติเป็นไปที่แตกต่างกัน ตามการสะสม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีคนชั่ว ไม่มีคนดี เป็นต้น มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ แต่ที่เรียกว่าเป็นคนชั่ว ก็เพราะเหตุว่า ธรรมฝ่ายชั่ว ธรรมฝ่ายไม่ดี คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ถูกอกุศลครอบงำ จึงมีความประพฤติเป็นไปตามกำลังของอกุศล จึงเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า เป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่มีกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ต่อผู้อื่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ว่าร้ายผู้อื่น พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน บุคคลประเภทนี้เป็นคนดี เพราะมีกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป

คนดี กับ คนชั่ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมามีในสมัยนี้ แต่มีทุกยุคทุกสมัย ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ตามสมควรแก่เหตุ เรื่องกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด กรรมในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา แต่ละบุคคลก็ได้กระทำมาอย่างมากมาย มีทั้งดีและไม่ดี กรรมดี กับ กรรมชั่ว เป็นคนละส่วนกัน

การกระทำกรรมดี และ กรรมชั่ว นั้น เป็นการสร้างเหตุใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของกรรมดี ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นไปไม่ได้ที่เหตุดี แล้วจะให้ผลไม่ดี หรือ เหตุไม่ดีแล้ว จะให้ผลเป็นดี แต่เหตุย่อมสมควรแก่ผล เหตุดี ผลก็ย่อมดี เหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี

และที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่สำหรับเรา ในภพนี้ชาตินี้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ได้กระทำกิจที่ควรกระทำสำหรับตนเองแล้วหรือยัง นั่นก็คือ เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามในชีวิตประจำวัน สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

แน่ใจหรือว่าไม่ได้ทำ?

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ

... ยินดีในกุศลของคุณ Theerawat และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2567

สำหรับลำดับการให้ผลของกรรม โดยประเภทของกรรม คือ

ประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล มี ๔ คือ ครุกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ อาสันนกรรมหรือยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑

สำหรับลำดับการให้ผลของกรรม โดยประเภทของกรรม คือ

ครุกรรม เป็นกรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อน

พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง หรือกรรมที่เสพคุ้น เพราะเหตุว่าบางกรรมถึงทำไปแล้วก็ไม่ได้นึกถึงอีกเลย ก็มีใช่ไหมคะ แต่บางกรรมทำแล้วไม่ลืม ทำแล้วยังระลึกบ่อยๆ เพราะฉะนั้นกรรมที่มีกำลังหรือเสพคุ้น คือ ทำไปแล้วก็ยังระลึกถึงอีกเนืองๆ นั้นเป็นพหุลกรรม

อีกกรรมหนึ่ง คือ อาสันนกรรม บางแห่งใช้คำว่า ยทาสันนกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำใกล้จะจุติ

และอีกกรรมหนึ่ง คือ กฏัตตาวาปนกรรม คือ นอกจากครุกรรม พหุลกรรม และอาสันนกรรมแล้ว ก็เป็นกฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำที่ไม่ใช่ครุกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม ไม่ใช่อาสันนกรรม

นี่คือประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล

ที่มา ...

ลำดับการให้ผลของกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 ส.ค. 2567

กราบขอบพระคุณค่ะ อ.คำปั่น อ.ฉัตรชัยด้วยความเคารพค่ะ

ยินดีในกุศลผู้เห็นประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
swanjariya
วันที่ 8 ส.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
swanjariya
วันที่ 8 ส.ค. 2567

กราบยินดีในกุศลของท่านอาจารย์คำปั่น และอาจารย์ฉัตรชัยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
talaykwang
วันที่ 8 ส.ค. 2567

กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ