เสพคุ้นกับพระธรรม

 
สารธรรม
วันที่  19 ก.ย. 2567
หมายเลข  48507
อ่าน  110

เรื่องของการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ยาก ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ และกล่าวว่ามีทุกข์ และไม่อยากจะมีทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ประเภทใดทั้งสิ้น เวลาที่เกิดความรู้สึกไม่แช่มชื่น หรือความรู้สึกทุกข์กายเกิดขึ้น ก็อยากให้ทุกข์นั้นหมดลงโดยเร็ว แต่ไม่มีใครสามารถดับทุกข์ได้ ถ้ายังดับกิเลสไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา โดย เสพคุ้นกับพระธรรม ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ประมาท มิฉะนั้นจะทำให้ห่างไกลออกไปจากการคุ้นเคยกับพระธรรม และการสะสมอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านคบหาสมาคมกับบุคคล แต่โดยสภาพของปรมัตถธรรม เป็นการคบหาสมาคมกับธรรมทั้งสิ้น แล้วแต่ท่านจะคบหาสมาคมกับความเห็นถูก หรือคบหาสมาคมกับความเห็นผิด หรือคบหาสมาคมกับกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ซึ่ง การคบหาพระธรรมคือการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด และไตร่ตรองเลือกเฟ้นพระธรรมโดยรอบคอบ ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านจะคบกับพระธรรมอย่างไร ก็โดยการฟัง พระธรรม ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง และบางครั้งอาจจะเกิดความสงสัย ก็คบต่อไปอีก โดยการฟังต่อไป และพิจารณาพระโอวาทที่ได้ทรงตักเตือน

ถ้าท่านคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นมิตรสหาย อาจจะได้ฟังความคิดเห็นของมิตรสหาย ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มิตรสหายนั้นก็จะโอวาทหรือช่วยตักเตือน เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า เมื่อคบกับพระธรรม พระธรรมจะเป็นเหมือน มิตรสหายได้อย่างไร แต่ความจริงพระธรรมเป็นยิ่งกว่ามิตรสหาย เพราะแม้ไม่เห็นตัว แต่ก็ยังฟัง เหมือนกับมีบุคคลที่กำลังแสดงพระธรรมให้ฟัง และถ้าสงสัย ก็ศึกษา และฟังต่อไปอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ เหมือนกับการที่จะตอบข้อสงสัยของท่านผู้ฟังได้

บุคคลในสมัยพระผู้มีพระภาค มีความศรัทธา เลื่อมใส และเห็นประโยชน์ของการคบหาสมาคมกับพระธรรม ดังข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอวัสสุตปริยายสูตรที่ ๖

รับฟัง และ อ่านรายละเอียด

การคบหาสมาคมกับพระธรรม


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ