พระธรรมรส
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๒ ที่ว่า
บรรดารสทุกชนิด รสพระธรรมเป็นยอด
ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า
อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนประณีตแม้รสอาหารทิพย์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรสัง ธัมมรโส ชินาติ
ทุกคนได้รสอาหารอยู่ทุกวัน แม้เป็นรสที่ประณีตถึงขั้นอาหารทิพย์ของเทวดา ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในสังสารวัฏฏ์
การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันแต่ละครั้งที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นบริโภคด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมอกุศลซึ่งจะทำให้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้
วันนี้ทุกท่านต้องมีทุกข์แน่ๆ เพียงแต่จะสังเกตหรือไม่ได้สังเกต อาจจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ทันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่แท้ที่จริงสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งนั่นเป็นทุกข์จริงๆ แต่ขณะใดได้ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์ และถ้าสังเกตจะรู้ว่า มีมาก แม้แต่ว่าความขุ่นใจทางตาที่เห็น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหูที่ได้ยินแล้วเกิดขุ่นใจ รำคาญใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจคิดเรื่องที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสที่ประณีตทั้งหลาย ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากพระธรรมรส คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว และโลกุตตรธรรม ๙ นี้แหละประเสริฐกว่ารส ทั้งปวง เพราะว่าไม่ทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ หรือเสวยทุกข์
เวลาที่ท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรม และมีความเข้าใจ มีศรัทธาปสาทะ มีความรู้สึกซาบซึ้ง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง
รับฟัง และ อ่านรายละเอียด