สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์

 
สารธรรม
วันที่  2 ต.ค. 2567
หมายเลข  48595
อ่าน  40

การเจริญอนิจเจทุกขสัญญา เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว ยังต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เที่ยงๆ ก็แล้วไป แต่ต้องเห็นว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น ตลอดวัน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า


แม้แต่การที่จะต้องแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่า นั่นคือทุกข์ที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่ต้องแก้ไขเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตจะคงอยู่โดยที่ไม่มีการบริหาร หรือไม่มีการแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอนิจเจทุกขสัญญา ย่อมทำให้จิตเห็นภัยอย่างแรงกล้าในความเฉื่อยชา ความเกียจคร้าน ความท้อถอย ความประมาท การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา ย่อมปรากฏเปรียบเหมือนความสำคัญว่า เป็นภัย ย่อมปรากฏเหมือนขณะเพชฌฆาตเงื้อดาบขึ้น

นี่คือความไม่เที่ยงจริงๆ ถ้าทุกคนรู้ว่า อาจจะตายเดี๋ยวนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะลืม คือ ไม่ได้คิดถึงความเป็นอนิจจังซึ่งสั้นที่สุด และอาจจะสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในขณะไหนก็ได้

ถ้าคิดถึงการเกิดของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นสุคติภูมิ บางครั้งก็เป็น ทุคติภูมิ เสมือนภูเขาสูงใหญ่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ ในขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาที่คิดถึงการเกิด การตาย ซึ่งจะต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ แต่มองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเห็นเป็นภัยใหญ่ เสมือนเขาสูงใหญ่ที่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ เมื่อนั้นจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็ต้องมีการจุติ และการปฏิสนธิ และมีการรับผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมอย่างสั้นๆ ถ้าเป็นกามาวจรวิบาก ไม่ยาวนานเลย เช่น เสียงกระทบปรากฏนิดเดียวหมดไป สีที่กำลังปรากฏทางตากระทบนิดเดียวหมดไป กลิ่นที่กระทบจมูกนิดเดียวหมดไป อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กระทบกายก็เพียงเล็กน้อย และหมดไป

ขอเชิญรับฟัง

สัญญาสูตรที่ ๒ เพื่อกัน ระงับ และดับโลภะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ