จอมปลวกคืออะไร [วัมมิกสูตร]

 
wittawat
วันที่  10 ต.ค. 2567
หมายเลข  48666
อ่าน  49

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จอมปลวกคืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... ดูก่อนภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน ...

[๒๙๑] ... ดูก่อนภิกษุ คําว่าจอมปลวกนั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุก และขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวด ฟั้น มีอันทําลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา.


[อรรถกถา]

ขึ้นชื่อว่า จอมปลวก ที่ตั้งอยู่ตรงหน้าไม่มี แต่เทพบุตรเหมือนจะแสดงจอมปลวกที่ตั้งอยู่ตรงหน้าด้วยอํานาจเทศนาวิธี จึงกล่าวว่า อยํ ในบทว่า อยํ วมฺมิโก.

... บทว่า จาตุมฺมหาภูมิกสฺส ได้แก่ สําเร็จด้วยมหาภูตทั้ง ๔. บทว่า กายสฺส อธิวจนํ แปลว่า เป็นชื่อของสรีระ. เหมือนอย่างว่า กายภายนอกท่านเรียกว่า วัมมิกะ เพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ จอมปลวกย่อมคาย ๑ ผู้คาย ๑ ผู้คายร่างที่ประชุมธาตุสี่ ๑ ผู้คายความสัมพันธ์ด้วยเสน่หา ๑ จริงอยู่สภาพนั้นย่อมคายสัตว์เล็กๆ มีประการต่างๆ เช่นงู พังพอน หนู งูเหลือมเป็นต้น เพราะฉะนั้น กายนั้น ชื่อว่า วัมมิกะ กายอันตัวปลวกคายแล้วเหตุนั้นจึงชื่อว่า วัมมิกะ กายอันตัวปลวกก่อขึ้นด้วยผงฝุ่น ที่ตัวคายยกขึ้นด้วยจะงอยปากประมาณเพียงสะเอวบ้าง ชั่วบุรุษบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วัมมิกะ กายเมื่อฝนตก ๗ สัปดาห์ อันตัวปลวกเกลี่ย เพราะเนื่องด้วยยางน้ำลายที่คายออกแม้ในฤดูแล้งมันก็คายเอาฝุ่นจากที่นั้น บีบที่นั้นให้เป็นกอง ยางเหนียวก็ออกแล้วก็ติดกันด้วยยางเหนียวที่คาย เหตุนั้นจึงชื่อว่า วัมมิกะ ฉันใดนั้นแล แม้กายนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่า วัมมิกะ เพราะคายของไม่สะอาด ของมีโทษ และมลทินมีประการต่างๆ โดยนัยเป็นต้นว่า ขี้ตาออกจากลูกตา เป็นต้น และชื่อว่า วัมมิกะ เพราะอันพระอริยเจ้าคายแล้ว เหตุพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธะและพระขีณาสพ ทิ้งอัตภาพไป เพราะหมดความเยื่อใยในอัตตภาพนี้ ชื่อว่า วัมมิกะ เพราะคายหมดทั้งร่างที่ประชุมธาตุ ๔ เหตุที่พระอริยเจ้าคายร่างทั้งหมดที่กระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นรัดด้วยเอ็น ฉาบด้วยเนื้อ ห่อด้วยหนังสดย้อมผิว ลวงสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า วัมมิกะ เพราะผูกด้วยเสน่หา ที่คายเสียแล้ว เหตุกายนี้ผูกด้วยใยยางคือตัณหา ที่พระอริยทั้งหลายคายแล้ว เพราะตัณหาก่อให้เกิดตามพระบาลีอย่างนี้ว่า ตัณหาทําคนให้เกิด จิตของคนนั้น ย่อมแล่นไป. อนึ่ง สัตว์เล็กๆ มีประการต่างๆ ภายในจอมปลวกย่อมเกิด ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. นอนป่วย ย่อมตายตกไปในจอมปลวกนั้นนั่นเองดังนั้นจอมปลวกนั้น จึงเป็นเรือนเกิด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เล็กๆ เหล่านั้นฉันใด กายแม้ของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น ก็ฉันนั้น เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เหยื่อในกระดูก มิได้คิดว่า กายนี้ถูกคุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตกแต่งแล้ว เป็นกายของผู้มีอานุภาพใหญ่ รวมความว่า หมู่หนอนโดยการนับตระกูลมีประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตระกูลย่อมเกิด ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนกระสับกระส่าย เพราะความป่วยไข้ ตายตกคลักอยู่ในกายนี้เอง เหตุนั้น จึงนับได้ว่าเป็นจอมปลวก เพราะเป็นเรือนตลอด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่าดูก่อนภิกษุ คําว่า วัมมิกะ นี้เป็นชื่อของกายนี้ ที่เกิดจากมหาภูตทั้ง ๔.

บทว่า มาตาเปติกสมฺภวสฺส ความว่า ที่เกิดจากการรวมตัวของ สุกกาซึ่งเกิดจากมารดาบิดา ที่ชื่อว่า มาตาเปติกะ. บทว่า โอทน กมฺมาสูปจยสฺส ความว่า ก่อเติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส. พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า อนิจฺจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺมสฺส ดังต่อไปนี้ กายนี้ชื่อว่ามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะอรรถาว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่ามีการฉาบทาเป็นธรรมดา เพราะฉาบทาด้วยหนังบางเพื่อประโยชน์แก่การกําจัดกลิ่นเหม็น ชื่อว่า มีการนวดฟั้นเป็นธรรมดา เพราะมีการนวดฟั้นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประโยชน์แก่การบรรเทา ความเจ็บป่วยทางอวัยวะน้อยใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีการประคบประหงมเป็นธรรมดา โดยการหยอดยาตาและบีบเป็นต้น เพื่อความสมบูรณ์แห่งทรวดทรง แห่งอวัยวะเหล่านั้น ที่ตั้งอยู่ไม่ดี โดยให้นอนอยู่บนขา ให้นอนแต่ในห้องในเวลาเป็นเด็ก อธิบายว่า แม้ถึงจะถูกประคบประหงมอยู่อย่างนี้ ก็ยังมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กายมีสภาพอย่างนี้. ท่านกล่าวกายที่ตั้งขึ้นด้วย บทคือ มาตาเปติกสัมภวะ โอทนะ กุมมาสอุปัจยะอุจฉาทนะ และปริมัททนะ ในคํานั้น. ท่านกล่าวการดับด้วยบทคือ อนิจจะอุจฉาทนะ เภทนะ วิทธังสนะ ภาวะที่สูงต่ํา ความเจริญ ความเสื่อม ความเกิด และความดับ แห่งกายอันเกิดแต่มหาภูตทั้ง ๔ พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้ด้วยบททั้ง ๗ อย่างด้วยประการฉะนี้.


[สรุป]

จอมปลวก (ภาษาบาลีคือ วัมมิกะ) ตามนัยแห่งพระสูตรนี้หมายถึง สรีระหรือร่างกายนี้

ร่างกายนี้ ท่านกล่าวว่าเสมือนด้วยกับ จอมปลวก ด้วยเหตุ 4 อย่าง ได้แก่

- จอมปลวกย่อมคาย (สัตว์ต่างๆ ออกมา มีงู หนู จิ้งจก เป็นต้น ทางรูของมัน)

-ผู้คาย (ตัวปลวกเองคายน้ำลายมาที่ผงดินเพื่อสร้างจอมปลวก)

จอมปลวกนั้นคายสิ่งที่ไม่ต้องการออกมาฉันใด หรือปลวกคายน้ำลายมาสร้างจอมปลวกฉันใด ร่างกายนี้ก็คายของไม่สะอาด สิ่งที่มีโทษ ออกมาฉันนั้น มีขี้ตาออกจากลูกตา เป็นต้น

-ผู้คายร่างที่ประชุมธาตุ ๔ หมายถึง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมของอวัยวะน้อยใหญ่ มีผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หนอนมากมาย เป็นต้น ไม่ต่างจากจอมปลวก ที่เป็นที่ประชุมของหมู่สัตว์ เป็นห้องคลอด เป็นบ้าน เป็นโรงพยาบาล เป็นสุสาน ซึ่งผู้ที่คายร่างกายที่ประชุมด้วยธาตุ ๔ อันเสมือนกับจอมปลวกนี้ได้ ก็คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เพราะพระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้วก็ไม่มีการประชุมของธาตุ ๔ อีกในภพถัดไป

-ผู้คายความสัมพันธ์ด้วยเสน่หา หมายถึง ร่างกายนี้เกิดเพราะตัณหาความติดข้อง ซึ่งพระอริยเจ้าคลายได้แล้ว คลายตัณหาประเภทต่างๆ ตามระดับคุณธรรมของพระอริยเจ้าประเภทนั้นๆ

ร่างกายนี้แท้จริง ได้แก่ รูป ๔ ประเภท คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ท่านแสดงไว้ 7 บท ทั้งฝ่ายเจริญ และฝ่ายเสื่อม ได้แก่

>> ฝ่ายเจริญ

- มารดาบิดาเป็นแดนเกิด หมายถึง ร่างกายนี้ในภูมิมนุษย์ต้องอาศัยบิดา มารดา อยู่ร่วมกันเป็นปัจจัย เป็นต้น จึงเกิดได้

- เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส หมายถึง ร่างกายเติบโตได้ต้องอาศัยอาหารเป็นปัจจัย

- ต้องนวดฟั้น ในวัยเด็กก็ต้องคอยประคบประหงม ดูแลให้นอนบนตักแม่บ้าง

>> ฝ่ายเสื่อม

- ไม่เที่ยง ทรงแสดงว่ากายนี้ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วหามีไม่

- ต้องอบ ต้องลูบไล้ ทำความสะอาด เพื่อกำจัดกลิ่น

- ต้องนวดฟั้น เล็กๆ น้อยๆ เพื่อบรรเทาเจ็บป่วยของอวัยวะน้อยใหญ่

- ทำลาย

- กระจัดกระจาย และแม้จะดูแลดีอย่างไร ก็มีอันต้องถูกทำลาย และกระจัดกระจายเป็นธรรมดาเป็นที่สุด

กราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ