ทาง ๒ แพร่งคืออะไร [วัมมิกสูตร]

 
wittawat
วันที่  16 ต.ค. 2567
หมายเลข  48719
อ่าน  52

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทาง ๒ แพร่ง คืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่าทาง ๒ แพร่งขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาสตราขุดดู .. ...

[๒๙๑] ... คําว่าทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คํานั้นมีอธิบายดังนี้ว่าพ่อสุเมธะเจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาสตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสียจงขุดมันเสีย.


[อรรถกถา]

พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า เทฺวธาปโถ ดังต่อไปนี้ บุรุษผู้มีทรัพย์โภคะ เดินทางไกลอันกันดาร ถึงทาง ๒ แพร่ง ไม่อาจตัดสินใจว่า ควรไปทางนี้ หรือไม่ควรไปทางนี้ หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เหล่าโจรปรากฏตัวขึ้นมาก็จะทําผู้นั้นให้ถึงความย่อยยับฉันใด ภิกษุผู้นั่งกําหนดกัมมัฏฐานเบื้องต้น ก็ฉันนั้นนั่นแล เมื่อเกิดความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจเจริญกัมมัฏฐานได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปวงมารมีกิเลสมารเป็นต้น ย่อมทําภิกษุนั้นให้ถึงความย่อยยับ วิจิกิจฉา จึงเสมอด้วยทาง ๒ แพร่ง ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่า ทาง ๒ แพร่งนี้เป็นชื่อของ วิจิกิจฉา. ในคําว่า ปชห วิจิกิจฺฉํ นี้ ท่านกล่าวการละวิจิกิจฉาด้วยการเรียน และการสอบถามกัมมัฏฐาน.


[สรุป]

ทาง ๒ แพร่ง คืออะไร?

ทาง ๒ แพร่ง โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ หมายถึง ความสงสัย หรือ วิจิกิจฉาเจตสิก
มีข้อความว่า เมื่อถึง ทาง ๒ แพร่ง ก็ไม่อาจตัดสินทางที่จะไปได้ จึงหยุด และจึงถูกโจรเข้ามาทำร้ายได้ ฉันใด ความสงสัยเมื่อเกิดขึ้น สติ และกุศลธรรมฝ่ายดีก็เกิดไม่ได้ ผู้นั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก ฉันนั้น
ความสงสัยก็เป็นนามธรรมประเภทหนึ่งที่เกิดพร้อมกับความไม่รู้

เคยสงสัยหรือไม่ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ พระพุทธเจ้าดับกิเลสได้จริงหรือ คุณธรรมต่างๆ ของพระองค์มีจริงหรือ ธรรมที่พระองค์แสดงดับทุกข์ได้จริงหรือ นิพพานมีจริงหรือไม่ มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนแล้วดับกิเลสได้จริงหรือ เป็นต้น

ความสงสัยเหล่านี้ดับไม่ได้จนกว่าจะรู้แจ้งความจริง เพราะผู้ที่ดับความสงสัยหมดไปได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย มีเพียงพระโสดาบัน

และเบื้องต้น คือ เข้าใจว่าขณะที่คิดสงสัยเช่นนั้น ก็เป็นนามธรรม เป็นความจริงประเภทหนึ่งด้วยที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน

กราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ต.ค. 2567

ข้อความบางตอนใน วัมมิกสูตร ข้อ ๒๘๙ มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นท่านพระกุมารกัสสปะพำนักอยู่ที่ป่าอันธวัน ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง

คือ พรหมชั้นสุทธาวาสซึ่งเป็นสหายของท่านในครั้งก่อนนั่นเอง

เมื่อราตรีล่วงปฐมยามแล้วยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะว่า

ดูกร ภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรอง น้ำด่าง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอา ศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่า ขอรับ

คนชอบเต่าอาจจะดีใจ ได้เห็นเต่า

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดดู ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่า ชิ้นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาค ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค

ขอเชิญรับฟัง

พระกุมารกัสสปะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ อย่างไร

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ