กิจโดยตรงของผู้ที่เป็นบรรพชิต /568-569*
ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ และในขณะที่ท่านศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็ย่อมเกื้อกูลให้ท่านสามารถที่จะศึกษาสิกขาบทของบรรพชิตได้ โดยที่ไม่ได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป
ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เขตตสูตร ข้อ ๕๒๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ก่อนอื่นจะต้องไถคราดนาให้ดีก่อน แล้วก็เพาะพืชลงไปตามกาล ครั้นแล้วก็ไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาออกเสียบ้างตามสมัย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล ฉันใด กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทาน อธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ
และข้อความใน วัชชีปุตตสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทนี้พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุ ก็ท่านสามารถจะศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ หรือ ฯ
ภิกษุวัชชีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถจะศึกษาได้ในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ พระเจ้าข้า ฯ
ขอเชิญรับฟัง ... กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่าง
กิจแรกของภิกษุไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
เรื่องของสิกขาบทสำหรับพระภิกษุที่เป็นปาติโมกข์มีมากทีเดียว สำหรับพระภิกษุ ท่านจะต้องรักษาสิกขาบทถึง ๒๒๗ ข้อ ซึ่งภิกษุวัชชีบุตรเห็นว่า สิกขาบทเหล่านั้นมากทีเดียว ท่านไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้นได้ครบถ้วน พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งท่านรักษาได้ และในขณะที่ท่านศึกษา อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็เป็นการอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในที่สุดก็ละราคะ โทสะ โมหะได้ มิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป