เต่าคืออะไร [วัมมิกสูตร]

 
wittawat
วันที่  22 ต.ค. 2567
หมายเลข  48759
อ่าน  80

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เต่าคืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่าขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู ...

[๒๙๑] ... คําว่าเต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. คํานั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสียจงขุดขึ้นเสีย.


[อรรถกถา]

พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า กุมฺโม ดังต่อไปนี้ เต่ามีอวัยวะ ๕ คือ เท้า ๔ ศีรษะ ๑ ฉันใด สังขตธรรมทั้งหมด เมื่อรวบรัดก็มีขันธ์ ๕ เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่าเต่านี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕. ในคําว่า ปชห ปฺจูปาทานกฺขนฺเธ นี้ ตรัสการละความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในขันธ์ ๕.


[สรุป]

เต่า คืออะไร?

เต่า โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ หมายถึง อุปาทานขันธ์ ๕
เต่ามีอวัยวะ ๕ คือ เท้า ๔ ศีรษะ ๑ ฉันใด
สภาพธรรมที่ปรุงแต่งกันแล้วเกิดขึ้นและดับ ก็จำแนกโดยนัยของขันธ์ ท่านแสดงเป็น ๕ ประเภท ฉันนั้น

อุปาทานขันธ์ ๕ หมายถึง ขันธ์อันเป็นที่ตั้งที่ยึดถือของอุปาทาน

ซึ่งขันธ์ นั้นหมายถึง ธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ รูป ๒๘ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒

ส่วนอุปาทาน นั้นหมายถึง สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน โดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ เจตสิก ๒ ดวง คือ โลภเจตสิก และทิฏฐิเจตสิกนั่นเอง

ทรงแสดงว่าปัญญานั้นละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในขันธ์ ๕ ซึ่งปัญญานั้นไม่สามารถละความติดข้องทั้งหมดได้ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพียงครั้งเดียว แต่ละความติดข้องแต่ละประเภทได้เป็นไปตามลำดับขั้น

ปัญญาระดับพระโสดาบัน สามารถที่จะละความติดข้องที่เกิดพร้อมความเห็นผิดว่าเป็นเรา ว่าเที่ยง ว่าสูญได้ แต่ไม่สามารถละความติดข้องยินดีพอใจในกามได้

ปัญญาระดับพระอนาคามี สามารถที่จะละความติดข้องยินดีพอใจในกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ แต่ไม่สามารถละความติดข้องยินดีพอใจในภพได้ (ในฌานจิตหรือการเกิดเป็นพรหม)

ปัญญาระดับพระอรหันต์ สามารถที่จะละความติดข้องยินดีพอใจได้ทุกประการ นี้เป็นความต่างของปัญญาของพระอริยบุคคลแต่ละประเภท

เพราะฉะนั้นไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการละความติดข้องในกาม เพราะยังไม่มีปัญญาระดับที่จะละความติดข้องในกามได้ แต่ปัญญาที่รู้แจ้งธรรมครั้งแรก จะละความเห็นผิดว่าเป็นเราก่อน ซึ่งก่อนที่ปัญญาจะละความเห็นผิดว่าเป็นเราได้ ต้องเป็นผู้ฟังธรรมและอบรมเจริญคุณความดีต่างๆ จนกระทั่งปัญญาเกิดขึ้นและรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละประเภท เป็นขันธ์ และเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ว่างเปล่าจากตัวตนตามความเป็นจริง

กราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ต.ค. 2567

ข้อความบางตอนใน วัมมิกสูตร ข้อ ๒๘๙ มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นท่านพระกุมารกัสสปะพำนักอยู่ที่ป่าอันธวัน ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง

คือ พรหมชั้นสุทธาวาสซึ่งเป็นสหายของท่านในครั้งก่อนนั่นเอง

เมื่อราตรีล่วงปฐมยามแล้วยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะว่า

ดูกร ภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรอง น้ำด่าง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอา ศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่า ขอรับ

คนชอบเต่าอาจจะดีใจ ได้เห็นเต่า

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดดู ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่า ชิ้นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาค ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค

ขอเชิญรับฟัง

พระกุมารกัสสปะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ อย่างไร

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ