เป็น สักกายทิฏฐิ หรือ มิจฉาทิฏฐิ *
สักกายทิฏฐิ คือ ในขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้นยึดถือว่าเป็นเรา ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม และมีความเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน มีความเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า การที่จะกล่าวว่าขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ หรือขณะใดไม่เป็นสักกายทิฏฐิ ขอให้เป็นความเข้าใจของท่านผู้ฟังเอง
จะต้องมีหลัก คือ มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ และขณะใดไม่ใช่สักกายทิฏฐิ เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดก็จะปะปนกัน ไม่สามารถแยกได้ว่า จิตขณะไหนเป็นกุศล และ จิตขณะไหนเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อกุศลจิตมีกี่ประเภท และอะไรบ้าง เช่น ความเห็นผิดทั้งหมด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก เกิดกับเฉพาะโลภมูลจิต ในขณะที่มีความเห็นเกิดขึ้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ถ้าสนทนากับหลายท่านที่ยังไม่เคยฟังพระธรรมเลย ทุกท่านจะบอกว่า เป็นตัวตนแน่ๆ ตายแล้วก็เกิด คนนี้เป็นคนนี้ สัตว์เป็นสัตว์ แต่ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เกิดกับรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕
นามธรรม และรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป และก็มีปัจจัยให้เกิดขึ้น และก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ โดยที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เช่น ได้ยินในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป ขณะที่ได้ยินไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นรู้เสียงคือได้ยินเท่านั้น และก็ดับ จึงกล่าวว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน
สิ่งใดที่เกิดขึ้น มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่เที่ยง แต่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลยก็เข้าใจว่า มีสัตว์ มีบุคคล ที่เที่ยง เมื่อตายก็สิ้นสภาพ และก็เกิดเป็นบุคคลใหม่ หรือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ประเภทใด ถ้าเห็นอย่างนี้ เป็นสักกายทิฏฐิ
สักกายทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ อย่างเดียวกันหรือเปล่า
สุ. ขึ้นชื่อว่าทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิด ในข้อไหน ถ้ากล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ก็เป็นมูลของความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ จะต้องดับหมดด้วย
สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน
ถ. แต่ผู้ที่ยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
สุ. ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นความเห็นผิด มิจฉาในภาษาบาลี ก็แปลว่า ผิด เท่านั้นเอง
ถ. คิดว่า ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิ รู้สึกว่าจะเบาๆ หน่อย แต่ถ้าพูดว่า มิจฉาทิฏฐิ รู้สึกว่ารุนแรงเหลือเกิน
สุ. ก็แล้วแต่ หมายความว่า เข้าใจมิจฉาทิฏฐิว่าอย่างไร ถ้าเข้าใจ คำแปลตรง คือ มิจฉา แปลว่า ผิด ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะ เป็นสักกายทิฏฐิหรือทิฏฐิอื่นทั้งหมดที่ผิด ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั่นเอง แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิดขั้นรุนแรง ร้ายแรง เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็นต้น ถ้าเห็นอย่างนั้นก็จะมีการทำทุจริตกรรมอย่างมาก เพราะคิดว่า กรรมไม่มีผล นั่นก็เป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง
ถ. ถ้าสักกายทิฏฐิ ธรรมดา ถือว่าเป็นความเห็นผิดที่ไม่ถึงขั้น ปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง
สุ. ไม่ถึงมิจฉาทิฏฐิประเภทอื่น แต่เป็นมูลของมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ตราบใดที่สักกายทิฏฐิยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ เกิดขึ้นได้
ขอเชิญรับฟัง