กิเลสไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นคืออะไร แล้วจะละได้อย่างไร?

 
เมตตา
วันที่  29 ต.ค. 2567
หมายเลข  48798
อ่าน  250

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 360

ข้อความบางตอนจาก

มหาสติปัฏฐานสูตร

ในสัจจะเหล่านั้น สัจจะ ๒ เบื้องต้น ชื่อว่า ลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก สัจจะ ๒ เบื้องหลัง ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง. ความจริง ทุกขสัจปรากฏตั้งแต่เกิดมา ถึงกับกล่าวกันว่า ทุกข์หนอ ในเวลาที่ถูกตอและหนามตำเป็นต้น. แม้สมุทัยสัจก็ปรากฏตั้งแต่เกิดมา ด้วยอำนาจอยากเคี้ยว อยากกินเป็นต้น. แต่แม้ทั้งสองสัจจะนั้นก็ชื่อว่าลึกซึ้ง โดยลักษณะ และการแทงตลอด. สัจจะ ๒ นั้นชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยากด้วยประการฉะนี้. ส่วนความพยายามเพื่อเห็นสัจจะ ๒ นอกนี้ ก็เป็นเหมือนเหยียดมือจับภวัคคพรหม เหยียดเท้าไปต้องอเวจีนรก และเป็นเหมือนเอาปลายขนทราย กับปลายขนทรายที่แยกออก ๗ ส่วนให้จดติดกัน. สัจจะ ๒ เบื้องปลายเหล่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง ด้วยประการฉะนี้


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 22

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา และโลก ว่าเที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยวัตถุ ๔ นี้เท่านั้น หรือด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้นอกจากนี้ไม่มี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งวาทะเหล่านี้ ที่บุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น. อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด และรู้ชัดยิ่งไปกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย และเมื่อไม่ยึดมั่น ตถาคตก็รู้ความดับสนิทของตนเอง รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง. เพราะไม่ยึดมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ที่ตถาคตทําให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ.

จบภาณวารที่หนึ่ง

เอกัจจสัสสตทิฏฐิ ๔


อ.คำปั่น: ได้ฟังคลิปธรรมเตือนใจที่ท่านอาจารย์สนทนา ซึ่งเป็นการสนทนาเมื่อปี ๒๕๕๗ ก็ร่วม ๑๐ ปีมาแล้วครับ แต่ว่า พระธรรม คำจริง ก็เป็นคำจริงอยู่ตลอด เป็นคำจริงอยู่ทุกเมื่อ ครับ

ได้ฟังว่า สิ่งที่ควรพลัดพราก ก็คือกิเลสทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ควรพลัดพรากจริงๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งที่เป็นพิษ ก็สะสมมานาน ประเด็นที่จะกราบเท้าท่านอาจารย์ คือว่าแม้ว่าจะได้ฟังว่า กิเลสเป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งที่มีพิษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย แต่ว่าชีวิตประจำวันเหมือนกับว่า ก็ยัง เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ยังถูกกิเลสครอบงำ ความเข้าใจในขั้นฟังที่ได้ฟังอยู่ทุกวันนี่ ดูเหมือนว่า ก็ยังไม่สามารถที่จะทำอะไรกับกิเลสได้ครับ

กราบเท้าท่านอาจารย์ตรงนี้ด้วยว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะได้ฟังธรรม รู้ว่า จุดประสงค์ของการศึกษาฟังธรรม ก็คือ ขัดเกลาละคลายกิเลส แต่กิเลสก็ยังมากอยู่

ท่านอาจารย์: ... ไตร่ตรอง ลึกซึ้ง ละเอียดแค่ไหน จึงจะละกิเลสได้ เห็นไหม? จริงไหม? ไม่ใช่ให้ทำอะไรเลย ความรู้ความเข้าใจต้องเกิดจากการฟัง และการไตร่ตรอง มั่นคงในความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ รู้จักสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ กิเลสไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นคืออะไร แล้วจะละได้อย่างไร ลึกซึ้งไหม?

อ.คำปั่น: ลึกซึ้งครับ ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ว่า ไม่รู้จักกิเลส เวลาฟังก็เหมือนจะเข้าใจว่า กิเลสคืออะไร เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต อย่างไรจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่รู้จักกิเลสจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีกิเลสไหม?

อ.คำปั่น: มีครับ

ท่านอาจารย์: รู้จักหรือยัง?

อ.คำปั่น: ในขั้นฟังก็รู้ว่า มี เพราะความประพฤติเป็นไปก็ยังมีไม่ดีบ้างครับ ก็เข้าใจว่า ก็เพราะกิเลสนี่ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะยังไม่รู้จักกิเลส ทั้งๆ ที่กิเลสกำลังมีหรือเปล่า? จะไปรู้จักกิเลสเมื่อไหร่? เมื่อเวลากิเลสไม่มีอย่างนั้นหรือ?

เพราะฉะนั้น จะรู้จักกิเลสต่อเมื่อกำลังมีกิเลส

อ.คำปั่น: ตรงนี้ละเอียดมากเลยครับ

ท่านอาจารย์: ไม่มีทางที่ธรรมจะไม่ละเอียด คิดถึงลึกซึ้งปานใด ก่อนจะตรัสรู้ พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่เพื่อที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ แม้กิเลสเดี๋ยวนี้ก็รู้ได้ ซึ่งถ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา จะรู้ไหม เดี๋ยวนี้มีกิเลสอะไร? ไม่มีทางเลย มืดบอดมาก

เพราะฉะนั้น ความเคารพสูงสุดต่อเมื่อปลาบปลื้มยินดีที่ได้มีโอกาสได้ฟัง คำ ที่ผู้บำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้ความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ในความลึกซึ้ง คนอื่นทั้งโลกทั้งจักรวาลไม่สามารถจะรู้ได้ แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี แล้วตรัสรู้ความจริง จึงรู้ได้ แล้วเราเป็นใคร ฟังแค่นี้ พูดคำเดียวกับพระองค์ ปัญญาเท่าพระองค์หรือเปล่า?

อ.คำปั่น: ไม่มีทางเท่าครับ

ท่านอาจารย์: แล้วจะรู้ได้ว่า เศษผงธุลีของปัญญาเท่านั้นเอง แล้วจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วจะละกิเลส คิดดู เป็นไปได้ไหม? อาจเอื้อมแค่ไหน? กิเลสเท่าไหร่ แล้วก็ความเข้าใจเท่าไหร่? แล้วจะไปละกิเลส จริงไหม เท่านั้นแหละ?

อ.คำปั่น: จริงครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรม ต้องฟังด้วยความเคารพสูงสุดในความละเอียดของความจริง ซึ่งไม่ได้ปรากฏเลย ต้องค่อยๆ รู้เท่าไหร่กว่าจะรู้จักตัวจริงของกิเลส

อ.คำปั่น: ก็ต้องฟังอีกๆ เริ่มแล้วเริ่มอีกครับ

ท่านอาจารย์: หมดสงสัยแล้วยังว่า ทำไมไม่รู้จักกิเลส ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องกิเลส?

อ.คำปั่น: ยังไม่หมดครับ ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ต่อไปครับ

ท่านอาจารย์: หมดสงสัยแล้วหรือยังว่า ทำไมจึงไม่รู้จักกิเลส ทั้งๆ ที่มีกิเลสเดี๋ยวนี้ เห็นไหม? หมดสงสัยซิ จะรู้จักได้อย่างไร ปัญญาแค่นี้เอง ไม่สงสัยอีกต่อไปว่า ทำไมจึงไม่รู้จักกิเลสสักที พูดเท่าไหร่ เรียนเท่าไหร่ ฟังเท่าไหร่ กี่ชาติ ยังไม่รู้จักกิเลสสักที เพราะกิเลสลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นไม่เห็นความลึกซึ้งเลย ศึกษาธรรมด้วยการไม่เข้าใจในความลึกซึ้ง แล้วจะเข้าใจธรรมได้หรือ?

อ.คำปั่น: เพราะไม่เห็นความลึกซึ้ง ละเอียดครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: มากมายมหาศาล อยู่ดีๆ ฟังแค่นี้ เมื่อไหร่จะหมดกิเลส สงสัย ทำไมจะต้องสงสัยในเมื่อปัญญาเพียงเท่านี้ ยังไม่รู้จักกิเลส แล้วจะไปหมดกิเลสได้อย่างไร?

อ.คำปั่น: เป็นสิ่งที่น่าคิดมากๆ เลยครับ และที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ก็เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม เพราะว่าธรรมลึกซึ้ง กิเลสก็ลึกซึ้ง กิเลสก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงด้วย ครับ

ท่านอาจารย์: เพียงขั้นสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นโดยความลึกซึ้งอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้เพิ่มแล้ว ถ้าเข้าใจนิดหนึ่งกับที่ไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์เท่าไหร่ แล้วยังจะสงสัยหรีอว่า ทำไมถึงไม่รู้จักกิเลส ไม่ละกิเลสสักที ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องกิเลสแล้ว

อ.คำปั่น: ชัดเจนมากเลยครับ เพราะความลึกซึ้งของธรรมนี่เองครับ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วมีความเพียรไหมที่จะฟังต่อไป ค่อยๆ เข้าใจต่อไปแม้เพียงทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็ตรงว่า เข้าใจแค่ไหน ระดับไหน?

อ.คำปั่น: จะฟังต่อไปครับ

ท่านอาจารย์: นั่นคือ บารมี วิริยบารมี มิเช่นนั้น จะไปเอาวิริยบารมีที่ไหนมาค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ธรรมลึกซึ้ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ