จะทำบุญในอัตภาพที่สอง (ชาตินี้) เราจะพ้นจากอบาย ๔ ได้

 
preechacupr
วันที่  30 ต.ค. 2567
หมายเลข  48804
อ่าน  88

จะทำบุญในประเทศ ในปัจจุบันกับใคร ที่ไหน อย่างไร ถึงจะได้บุญ (ใครคือพระอริยเจ้า อริยบุคคล สัตตบุรุษ ซึ่งทำบุญจะได้บุญมาก) ในอัตภาพที่สอง (ชาตินี้) เราจะพ้นจากอบาย ๔ ได้ เพราะทุกที่ ทุกวัด ต้องการให้คนไปจ่ายเงินเพื่อไปสวรรค์ ไปนิพพาน ซึ่งไม่น่าได้บุญมาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 ต.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก แต่ละคนก็เคยเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ไม่ใช่แค่ชาติสองชาติเท่านั้น

ก่อนอื่นเลย ควรจะได้เข้าใจว่าบุญคืออะไร? ถ้าสิ่งใดไม่เป็นบุญหรือไม่ใช่บุญ เราก็ไม่สนับสนุนไม่ส่งเสริมในสิ่งนั้น เบาสบายด้วยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก

ข้อความใน [เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐ ปฐมปีฐวิมาน อธิบายความเป็นจริงของบุญ ไว้ดังนี้

กุศลกรรมทั้งหลาย อันต่างโดยประเภท มี ทาน และ ศีลเป็นต้น ได้ชื่อว่า บุญ เพราะทำให้บังเกิดผลคือความที่น่าบูชา และ เพราะชำระชะล้างสันดานของตนเองให้หมดจด


บุญเป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาดปราศจากอกุศล บุญ จึงหมายถึงความดีทุกระดับขั้น ตัังแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ บุญ เป็นนามธรรม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากกุศลจิต และ โสภณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง เจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิต จะต้องเป็นเจตสิกที่ดีงามเท่านั้น มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เจตสิกที่ไม่ดีประการต่างๆ จะเกิดร่วมกับกุศลจิตไม่ได้เลย และเมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ล้วนมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย แม้แต่บุญ ก็เช่นเดียวกัน เกิดเพราะปัจจัยหลายอย่าง เพราะเคยเห็นประโยชน์ของความดี ไม่ประมาทในสะสมความดี ก็เป็นเหตุปัจจัย ให้ความดี คือ บุญ เกิดขึ้น สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไปได้

ที่ควรพิจารณา คือ บุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ ได้แก่

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศล ให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคนอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนา ในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผล ในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรง ตามสภาพธรรม และเหตุผล ของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษา และมีความเข้าใจ ไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองโดยตลอด

บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์บุญซึ่งเป็นความดีประการต่างๆ อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง นั้น ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ และ ควรที่จะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้ว ทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน แต่จะจากไปพร้อมกับกิเลสที่มีมากๆ หรือจะจากไปพร้อมกับบุญกุศลและปัญญาที่ได้อบรมเจริญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่?

การที่จะปิดประตูอบายได้อย่างเด็ดขาด ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น ซึ่งจะขาดการอบรมเจริญปัญญาดำเนินในหนทางที่ถูกต้องไม่ได้เลย ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ preechacupr และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ต.ค. 2567

หลักธรรมดาของการให้ ซึ่งเราก็คงเห็นอยู่ทั่วๆ ไป แต่ถ้าไม่เข้าใจ แล้วก็มุ่งที่จะให้ หรือว่าคิดที่จะไม่ให้เสียเลย โดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผล หรือไม่คำนึงถึงกุศลจิต อกุศลจิต ที่จะเกิดในภายหลังแล้ว จะเป็นเหตุที่ทำให้ การให้ทานนั้นตึงไปหรือว่าหย่อนไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดทุกข์ในภายหลังได้

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความพอดี ตามสมควรแก่เพศ และก็ฐานานุรูปของแต่ละบุคคล การทำทุกอย่างเกินความพอดี ตึงไปหรือว่าหย่อนไป ก็จะต้องนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ได้

ขอเชิญรับฟัง

การให้ทาน การเสียสละ

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2567

กราบยินดีในกุศลวิริยะของอาจารย์ฉัตรชัยด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
preechacupr
วันที่ 31 ต.ค. 2567

ขอขอบคุณทานที่ท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ให้มา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ