เรื่องของนรก
สำหรับนรก เป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นโลกที่เต็มไปด้วยการทนทุกข์ทรมาน เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในโลกนั้น เป็นกรรมหนักที่จะต้องให้ผล กรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
ท่านผู้ฟังพอจะนึกได้ไหมว่า แม้ในโลกนี้ก็ยังมีการต้องทนทุกข์ทรมานจากภัยอันตรายต่างๆ จากไฟ จากน้ำ จากการเบียดเบียนประทุษร้าย จากอันตรายอื่นๆ อีกมากมาย อุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นี่เป็นเศษของกรรมที่ติดตามมาให้ผลเมื่อปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แต่ถ้าไม่ใช่เศษของกรรม เป็นกรรมหนักที่จะต้องให้ผล กรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
เรื่องของนรก และทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยบุคคล ย่อมมีปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ภูมิอื่นเมื่อยังไม่ถึง จะรู้ชัดเหมือนภูมิมนุษย์นี้ได้ไหม ไม่ได้ เหตุการณ์ในภูมิอื่นจะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะรู้ ที่จะเดา ที่จะคิด จนกว่าจะถึงภูมินั้นจริงๆ ถ้าถึงภูมินั้นจริงๆ ก็หมดความสงสัย เหมือนกับที่เคยสงสัยว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ก็ไม่สงสัยเวลาที่อยู่ในโลกนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง ได้ทรงแสดงไว้ถึงภพภูมิอื่นด้วย
ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทูตสูตร มีข้อความว่า
ขอเชิญรับฟัง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 189
๑๐. เทวทูตสูตร
[๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดํารัสแล้ว.
[๕๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กําลังเข้าเรือนบ้าง กําลังออกจากเรือนบ้าง กําลังเดินมาบ้างกําลังเดินไปบ้างฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแลเราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติกําลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านั้นประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่น กรรมด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 190
ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกําเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิเชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกก็มี.
[๕๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด.