หนักที่ไม่รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา

 
เมตตา
วันที่  8 พ.ย. 2567
หมายเลข  48864
อ่าน  204

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 308 - 309

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิคคหะอริฏฐภิกษุผู้เดียว ด้วยโอวาทแม้นี้ ด้วยประการฉะนี้ บัดนี้เมื่อทรงแสดงว่า ผู้ใดยึดว่าเรา ของเรา ด้วยอํานาจการยึดถือสามอย่างในขันธ์ ๕ ผู้นั้นชื่อว่าใส่โคลนหรือหยากเยื่อ ลงในศาสนาของเราเหมือนอริฏฐภิกษุนี้ จึงตรัสว่า ฉยิมานิ ภิกฺขเว เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺิฏฺานานิ ความว่า แม้ทิฏฐิ ก็ชื่อว่า ที่ตั้งแห่งทิฏฐิ ทั้งอารมณ์ของทิฏฐิ ทั้งปัจจัยของทิฏฐิ ก็ชื่อว่า ที่ตั้งของทิฏฐิ ในบทว่า รูปํ เอตํ มม เป็นต้น การถือว่านั่นของเรา เป็นตัณหาคาหะ การถือว่าเราเป็นนั่น เป็นมานคาหะ การถือว่านั่นเป็นตัวของเรา เป็นทิฏฐิคาหะ เป็นอันตรัส ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ด้วยประการฉะนี้


อ.อรรณพ: จากการไตร่ตรองธรรมของคุณอัง ที่เป่าผมอยู่แล้วก็ฟังธรรมรู้สึกสบาย ก็เป็นเราที่เบาสบาย เพราะว่าเป่าผมอยู่ ก็คงมีความสบายกาย แล้วก็ฟังธรรมที่ อ.กุลวิไล อ.ธิดารัตน์ สนทนาธรรมอยู่ ก็ดูสบายใจดี แต่เป็นเราที่เบาสบาบ จนกว่าจะเป็นเบาสบายเพราะไม่มีเรา ก็อีกยาวไกลมาก จะเบาสักขนาดไหน

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ จะเบาสบายขนาดไหน ถ้าไม่มีเรา ครับ

ท่านอาจารย์: ก็ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้หนักมากที่ไม่รู้อะไรเลยตามความเป็นจริง หลงหมดในทุกสิ่งทุกอย่าง

อ.อรรณพ: พออนุมานได้ว่า ถ้าไม่มีเรา จะเบาสบายสักแค่ไหน เพราะว่า ขณะนี้ที่หนักด้วยความเป็นเรา แม้กระทั่งหนักด้วยความเป็นเราว่า เบาสบาย

เพราะฉะนั้น ก็ต้องอนุมานเอากับสิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็คือ มีความหนักของความเป็นเรา กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ อย่างนั้นก็ลดระดับลงมาเป็น ความเป็นเราในชีวิตประจำวันหนักอย่างไร ครับ เช่นคุณอังก็อาบน้ำสบายๆ เป่าผมแล้วก็ฟังธรรม ก็ดูแช่มชื่นครับ

ท่านอาจารย์: วันนี้วันอะไร?

อ.อรรณพ: วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ท่านอาจารย์: แล้วไง? แค่นั้นหรือ?

อ.อรรณพ: วันนี้จะได้ทำโน่นทำนี่

ท่านอาจารย์: แค่นั้นหรือ? เห็นไหมว่า หนักทั้งวันเมื่อมีเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีล่ะ? ไม่มีเรื่องอะไรเลยเป็นแต่ธรรมที่เกิดดับ ต่างกันไหม?

อ.อรรณพ: ไม่มีเรื่องเลย เมื่อเป็นธรรม เพียงธรรมแต่ละอย่างที่เกิดดับ น้อมนึกถึงความเบาอย่างนั้นได้บ้างครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: และ ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่รู้ ยังไม่ถึงการที่จะประจักษ์แจ้งก็ต้องหนักอย่างนี้ วันนี้วันอะไร?

อ.อรรณพ: วันนี้วันอังคาร

ท่านอาจารย์: แล้วพรุ่งนี้วันอะไร?

อ.อรรณพ: พรุ่งนี้วันพุธ ยิ่งหนักครับ

ท่านอาจารย์: แล้วจะทำอะไร เห็นไหม?

อ.อรรณพ: ทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น แล้ววันพฤหัสก็จะไปทำโน่นทำนี่ เพราะฉะนั้น หนักที่คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อย่างนี้ก็หนักแล้วใช่ไหมครับ?

ท่านอาจารย์: หนักที่ไม่รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา ไม่มีเรื่อง แต่มีธรรมที่เป็นไปตามการสะสม ปรากฏให้รู้ ก็ไม่รู้

อ.อรรณพ: ข อท่านอาจารย์อนุเคราะห์ละเอียดครับว่า เรื่องก็มี ๒ แบบ เรื่องที่ทำให้หนักใจ เช่นเรื่องปัญหาสารพัดเป็นเรื่องที่ทำให้หนักใจ อันนี้ไม่เบาสบาย แต่ถ้ามีเรื่องที่ชอบใจ เช่น เป็นเรื่องที่จะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นที่น่าพอใจ เหมือนจะไม่เห็นความหนักของเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้เกิดความติดข้องเลยครับ

ท่านอาจารย์: ยิ่งหนักโดยไม่รู้ตัวว่า ติดข้อง นั่นเอง เริ่มหวังเริ่มต้องการเริ่มปราถนา เริ่มแสวงหาต่อไปแล้ว

อ.อรรณพ: อันนี้ก็ต้องเป็น ปัญญาที่เห็นในความหนักของความติดข้อง ละเอียดที่สุด ดีมากเลยครับคุณอัง ทำให้ได้ฟังท่านอาจารย์ แล้วทำให้ได้สนทนาต่อครับ

คุณอัง: ก็ขอโอกาสอีกสักครั้ง ก็ได้ฟังอ.อรรณพเรียนถามท่านอาจารย์ ก็เกิดความรู้สึกอีก คือความเป็นเรา หนูยังแบกความเบาสบายนั้นมาอยู่เลย ค่ะ แค่พอพูด สัญญาก็ยังจำได้ตรงนี้ค่ะ แล้วก็ไม่มีเรา แต่ว่ามันหนักนะคะถึงรู้ว่าที่เราบอกว่า เราจำความสบาย เบาสบายอันนั้นมา แต่จริงๆ มันเป็นของหนัก เพราะยังเป็นเรา และที่สำคัญ คือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ที่ปรากฏ ไม่ได้สำนึกสำเหนียกเลย แม้กำลังฟังธรรมอยู่นี่ ถึงเห็นว่ามันเหนียวแน่นเหลือเกิน ก็รู้สึกว่าเป็นกุศลอย่างมากที่ได้ฟังธรรม และสนทนาธรรมในครั้งนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ ความติดข้อง หนักแค่ไหน? หนักไหม ติดข้อง?

คุณอัง: หนักค่ะท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: แล้วก็หนักไปหมดทุกทาง นั่นล่ะ กว่าจะรู้ตามความเป็นจริง จึงรู้ว่า ไร้ประโยชน์ที่จะติดข้อง แม้ห้ามไม่ได้ แต่ก็รู้ความจริงว่า ถ้าไม่ติดข้องอย่างที่เคยติดข้องมาแล้ว เพราะรู้ความจริง ค่อยๆ คลาย ยังไม่ต้องไปหมด ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ รู้ความจริง นั่นคือหนทางที่ตอนคลายตอนรู้นั่นเอง เบา เพราะขณะนั้นไม่ได้ติดข้อง ขณะใดที่ไม่ติดข้องขณะนั้นเบา พอเริ่มติดก็มาแล้ว หนักขึ้นๆ

คุณอัง: มันรู้สึกแปลก รู้สึกขำตัวเอง ขำว่า เรานี่แบกติดข้องความเบาสบายมา รู้สึกว่าเบาสบาย แต่จริงๆ นั่นคือแบก เมื่อแบกก็คือต้องหนักค่ะ ถ้าไม่ฟังธรรมจะไม่รู้เลยว่า เราแบกความเบาสบายค่ะ

ท่านอาจารย์: กว่าจะเริ่มเข้าใจความจริงของอริยสัจจะที่ ๒ ใครจะรู้ ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ไตร่ตรองว่า มันหนักระดับไหน หนักแค่ไหน คว้ามา คว้ามาเก็บไว้นิดหนึ่งก็หนัก จนหนักอึ้งๆ มากไปไหนไม่ได้ จมอยู่ในความต้องการ

อ.อรรณพ: ความโง่หนักหนาสาหัส ก็คือบรมโง่

ท่านอาจารย์: รู้เมื่อไหร่ก็ลดความโง่ลงไป เพราะรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้นหนทางเดียว

อ.อรรณพ: วันๆ หนึ่ง รักที่สุด ก็คือรักโลภะ อยากให้โลภะเกิด อยากฟังเพลง อยากรับทานอาหาร อยากให้คือชอบโลภะ อยากให้โลภะเกิด แล้วก็ไม่ได้เห็นเลย เพราะฉะนั้น ถัาโลภะเกิดจะรู้สึกเบา เพราะฉะนั้น เขาก็จะสอนกันว่า ถ้ามีเรื่องกลุ้มใจ หรือความเจ็บป่วยทางใจก็ดี ทุกข์กายทุกข์ใจก็ดี ก็ไปหาสิ่งที่เพลิดเพลินเสีย ดูหนังฟังเพลงอะไรอย่างนี้ จะได้คลายลงเบาลง

แต่ฟังท่านอาจารย์แล้ว ยิ่งหนักไปด้วยความติดข้อง แต่การที่จะคลายจากความติดข้องนั่นแหละ ค่อยๆ เบาขึ้น คนละเรื่องกันเลยครับ คนทั่วไป คือคนทั่วไปก็นิยมความอยาก นิยมโลภะ โดยไม่รู้สึกตัว

ท่านอาจารย์: นี่แสดงความเข้าใจในความลึกซึ้งของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔

อ.อรรณพ: ลึกจริงๆ เลยครับ โดยเฉพาะอริยสัจจ์ที่ ๒ ความอยาก ลึกจริงๆ

ท่านอาจารย์: เริ่มเห็นพระปัญญาคุณ เริ่มเคารพเพิ่มขึ้นในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งพระปัญญาคุณ ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ สัตว์โลกไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในสากลจักรวาล จึงสามารถที่จะเริ่มมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ จนกระทั่งสามารถที่จะดับความเห็นผิดได้

อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์ก็ประกาศพระคุณทั้ง ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวานเราได้สนทนากัน วันนี้มาฟังอีก ก็ยิ่งแช่มชื่นโดยไม่ต้องไปใส่คำว่า นี่เป็นพุทธนุสติ อะไรต่ออะไรครับเมื่อเข้าใจขึ้น

ขอเชิญอ่านได้ที่..

ความยึดถือที่ลึกที่สุด

เป็นเรา ด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่..

ขยันหมั่นเพียรที่ถูกต้องไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 พ.ย. 2567

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

เพราะมีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา และยึดถือในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นของเรา

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณคณะอาจารย์มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และยินดีในกุศลธรรมทานจากทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ