ผลของกรรม หรือ ความประมาท?

 
yupa
วันที่  2 ต.ค. 2550
หมายเลข  4978
อ่าน  2,192

เห็นคนตายเพราะอุบัติเหตุ เยอะมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ก็อดคิดไม่ได้ว่าด้วยผลกรรมของคนตาย หรือความประมาท กันแน่ และช่วยอธิบายคำว่า "สัตว์ โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" ด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 2 ต.ค. 2550

ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์แสดงว่าการเกิด การตาย (ปฏิสนธิจิต จุติจิต) เป็นจิตประเภทวิบากจิต วิบากจิตเกิดเพราะมีกรรมเป็นปัจจัย ดังนั้น การตายของสัตว์ ทั้งหลาย (จุติจิต) เป็นผลของกรรม แต่การให้ผลของกรรมบางประเภทนั้น ต้องอาศัย ปโยคะวิบัติ อุปธิวิบัติ กาลวิบัติ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" อธิบายว่า สัตว์โลกจะเกิดที่ไหนจะมีความสุขหรือความทุกข์ เป็นคนยากจนขัดสนหรือร่ำรวยมหาเศรษฐี ขี้โรคหรือแข็งแรง อายุยืนหรืออายุสั้น มียศศักดิ์หรือต่ำต้อยอย่างไรเพราะกรรมที่ตนกระทำไว้แล้วทั้งสิ้น สมดังพระพุทธพจน์จากจูฬกัมมวิภังค์ว่า

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 251

ข้อความบางตอนจาก

จูฬกัมมวิภังค์

[๕๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่านธุ์ มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornchai.s
วันที่ 2 ต.ค. 2550

จิตเห็น - จิตได้ยิน - จิตได้กลิ่น - จิตลิ้มรส - จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็เป็น วิบากจิต (จิตซึ่งเป็นผลของกรรม)

- จิตเห็นสิ่งที่น่าพอใจ คือจักขุวิญญาณกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม

- จิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม ทางหู - จมูก - ลิ้น - กาย ก็โดยนัยเดียวกัน

การประสบอุบัติเหตุ ได้รับทุกขเวทนาทางกาย จึงเป็นผลของอกุศลกรรม ดังนั้น จึงเป็นเพียง นามธรรมที่เห็น - ได้ยิน ... ไม่ใช่ตัวเราเห็น - ได้ยิน ... (อนัตตา)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 2 ต.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ตามความเข้าใจของคำว่าประมาท ทั่วไปนั้น คือไม่ระมัดระวัง เป็นต้น แต่ในตามความเป็นจริงที่เป็นสัจจธรรมแล้วนั้น ความประมาทคือขณะที่เป็นอกุศล (ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย) ขณะนั้นชื่อว่าประมาท การที่บุคคลจะตาย ไม่ว่าจะเทศกาลใดก็ตาม เมื่อเรา มาพิจารณาในหลักธรรมที่เป็นสภาพธัมมะที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ขณะที่ตาย ก็ต้องเป็นผลของกรรม จุติจิตเกิด ต่อให้ระวัง ตามความเข้าใจของชาวโลกที่ว่าไม่ประมาท เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม (ตามปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่จะทำให้ จุติจิตเกิด) ใครจะห้ามผลของกรรมที่จะต้องตายได้ ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ การตาย ซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตก็เป็นธรรม บังคับให้เกิดหรือไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิดครับ ไม่ว่าเราดูหรือคิดเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ย้อน กลับมาพิจารณาในความเป็นสภาพธัมมะเท่านั้นที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดดับ ทีละขณะสืบต่อกัน จึงมีเรื่องราว การเกิด การตายครับ ดังนั้นขณะที่เป็นกุศลชื่อว่าไม่ประมาท ขณะที่เป็นอกุศลชื่อว่าประมาทครับ เพราะฉะนั้น การระวัง ไม่ประมาทของชาวโลก จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะให้ผลของกรรมนั้นเกิด หรือไม่ไห้เกิด เพราะเป็นไปกับ อกุศล ไม่มีทางห้ามจุติจิตได้เลยครับเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ดังจะขอยกข้อความในพระไตรปิฎกที่บุคคลไม่ประมาท (ภาษาชาวโลก) เพื่อไม่ให้ตัวเองตายครับ ส่วนสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดี ผลก็ย่อมดี ทำชั่ว ผลก็ย่อมชั่ว ที่ได้รับสุข ทุกข์ ทางกายก็เป็นไปตามเหตุคือ กรรม ที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่ทำมา จะเห็น ได้ ยิน ... รู้กระทบสัมผัส ดี ไม่ดี ก็แล้วแต่กรรมที่ทำมาที่เป็นกุศลหรืออกุศลครับ เป็นไป ตามกรรมจริงๆ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 2 ต.ค. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ตุลา
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 9 มี.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ